นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนก.พ. 66 ส่งออกได้ 88,525 คัน เพิ่มขึ้น 11.42% จากเดือนก.พ. 65 เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) มากขึ้น จึงผลิตส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะเพิ่มขึ้น 50.04% และ 7.44% ตามลำดับ ทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียและโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลางและอเมริกาใต้
“สถานการณ์ชิปทั่วโลกดีขึ้นตั้งแต่ช่วง ส.ค. 65 เนื่องจากโควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการใช้ชิปเพื่อผลิตแล็ปท็อปลดลง จำนวนชิปจึงเพียงพอต่อการผลิตรถยนต์ ส่งผลให้ยอดส่งออกของไทยตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 65-ก.พ. 66 ดีขึ้น จึงคาดการณ์ว่าปีนี้ยอดส่งออกจะอยู่ที่ 1,050,000 คัน ใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิดเมื่อปี 62 ที่ 1,054,000 คัน ตั้งเป้ายอดขายในประเทศ 9 แสนคัน ซึ่งคาดว่าเป็นไปได้หากสถานการณ์เหมือนช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์สงคราม และเศรษฐกิจ” นายสุรพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ในเรือขนส่งรถยนต์ (Ro-Ro) ไม่เพียงพอ และวนกลับมาจากท่าเรือประเทศออสเตรเลียมารับรถยนต์รอบใหม่ล่าช้า
สำหรับมูลค่าการส่งออก 54,801.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. 65 ที่ 20.34%
ยอดผลิต
สำหรับจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนก.พ. 66 มีทั้งสิ้น 165,612 คัน เพิ่มขึ้น 6.39% จากเดือนก.พ. 65 เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนชิปเพิ่มขึ้น จึงผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 16.17% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 6.39% และเพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. 66 ที่ 2.02% ส่งผลในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) มีจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ทั้งสิ้น 327,939 คัน เพิ่มขึ้น 6.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ยอดขายในประเทศ
ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนก.พ. 66 มีจำนวนทั้งสิ้น 71,551 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. 66 ที่ 9.11% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 3.94% ลดลงจากการผลิตรถกระบะเพื่อการขนส่งลดลงถึง 54.13% เพราะขาดชิ้นส่วนชิป ส่งผลให้ยอดขายรถกระบะลดลงถึง 23.5%
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมครั้งล่าสุด รวมถึงวิกฤตธนาคารล้มทั่วโลก ซึ่งถ้าสถานการณ์บานปลาย จะส่งผลให้สถาบันการเงินในไทยอาจปล่อยสินเชื่อ ไฟแนนซ์ยากขึ้น
ในส่วนของงานมอเตอร์โชว์ปี 66 คาดว่า ยอดขายรถยนต์ในงานปีนี้จะทะลุ 40,000 คัน ซึ่งมากกว่าปี 65 ที่ 34,000-35,000 คัน โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้จะมากขึ้น หนุนให้ยอดขายโดยรวมมากกว่าปีก่อน
ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง
– ประเภทไฟฟ้า (BEV)
เดือนก.พ. 66 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 7,536 คัน เพิ่มขึ้น 763.23% จากก.พ.65
– ประเภท HEV
เดือนก.พ. 66 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 7,921 คัน เพิ่มขึ้น 47.70% จากก.พ. 65
– ประเภท PHEV
เดือนก.พ. 66 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 1,249 คัน เพิ่มขึ้น 30.51% จากก.พ. 65
ในเดือนก.พ. 66 รถยนต์นั่งไฟฟ้า (BEV) มีตัวเลขจดทะเบียนถึง 5,402 คัน สูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจากก.พ. ปี 65 ถึง 5,061.16% และมีสัดส่วนถึง 7.85% ของยอดรวมรถยนต์นั่ง ถ้ารวมรถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊กตามประเทศอื่นๆ จะมีสัดส่วน 9.67% ของยอดจดทะเบียนรวมทั้งหมด
ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายส่งเสริมกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล จึงทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าลดลงอยู่ในระดับที่ประชาชนเข้าถึงได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้รถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ เข้ามาตั้งฐานผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจและสามารถเลือกซื้อรุ่นรถตามความนิยมของตนได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 66)
Tags: ชิป, ยานยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ไฟฟ้า, ส.อ.ท., ส่งออกรถยนต์, สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์, เซมิคอนดักเตอร์