คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งโต๊ะแถลงกรณีซีเซียม-137 สูญหายในจังหวัดปราจีนบุรีว่า ซีเซียมดังกล่าวมีขนาดเล็ก ความแรงรังสีต่ำ และอยู่ในพื้นที่ปิด ดังนั้นประชาชนโดยรอบไม่มีความเสี่ยง แต่ยังต้องเฝ้าระวังคนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ พร้อมยืนยันว่า พืชผลทางการเกษตรไม่มีการปนเปื้อนอย่างแน่นอน และ ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาพรัสเซียนบลูในการรักษา และไม่ควรซื้อมารับประทานเอง
นพ.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เหตุการณ์ซีเซียม-137 ในที่เกิดเหตุในจ.ปราจีนบุรี มีค่าความแรงรังสี (activity) ไม่มาก ทั้งนี้ ในทางอุตสาหกรรมถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
ดังนั้น กรณีเหตุการณ์นี้ที่มีปริมาณรังสีน้อย จึงไม่มีโอกาสเลยที่ผัก ผลไม้ในพื้นที่ปนเปื้อน ขณะเดียวกัน ประชาชนยังสามารถเดินทางไปยังพื้นที่รอบๆ โรงงานได้ตามปกติ เนื่องจากรังสีอยู่ในพื้นที่ปิด
“ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าซีเซียมจะปนเปื้อนในผัก ผลไม้ ในจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากสำนักปรมาณูเพื่อสันติ มีการตรวจหารังสีในดินโดยรอบไม่พบรังสี ซึ่งกว่าที่สารในดิน น้ำ จะไปถึงผัก ผลไม้ ต้องใช้ระยะเวลานานมาก”
ทั้งนี้ ในผัก ผลไม้ ข้าว และนม ปกติจะมีรังสีตามธรรมชาติอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี คาดว่าหน่วยงานต่างๆ จะมีการตรวจสอบให้ลึกขึ้น จากตะกอนใต้แหล่งน้ำ และชั้นดินบริเวณโดยรอบไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อน
นพ.กฤศณัฏฐ์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าซีเซียมที่ถูกหลอมเป็นชิ้นที่หายไปจริง ยังต้องรอกระบวนการพิสูจน์ ดังนั้น แนะนำให้ประชาชนสังเกตป้ายสัญญลักษณ์รังสี และกรณีเจอวัตถุต้องสงสัยให้แจ้งสายด่วน 1296 และหากพบวัตถุที่สงสัย ไม่ควรไปนำมาส่งคืน หรือพยายามพิสูจน์ด้วยตนเอง สิ่งที่ควรทำคือปิดกั้นบริเวณและแจ้งสายด่วน เนื่องจากรังสีสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดรังสีเท่านั้น
ส่วนเรื่องฝุ่นกัมมันตรังสีซีเซียมนั้น ขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามค่าการวัดรังสีที่รายงานจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ส่วนการปฏิบัติตัวสามารถทำได้ตามปกติได้
พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน กล่าวถึงการรักษาด้วยยาต้านพิษ “พรัสเซียนบลู” (Prussian blue) เป็นสารที่ให้สีน้ำเงิน ใช้แพร่หลายในการเขียนภาพ และถูกนำมาใช้เป็นยาต้านพิษที่ใช้ในการรักษาภาวะพิษจากซีเซียม โดยมีข้อบ่งชี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมภายในร่างกาย (Internal contamination) เท่านั้น ไม่ใช้รักษาหากได้รับทางผิวหนังหรือปนปื้อนตามเสื้อผ้า
อย่างไรก็ดี จะต้องมีการตรวจวัดปริมาณรังสีในผู้ป่วย ซึ่งต้องมีปริมาณรังสีในระดับสูง โดยขนาดของยาและระยะเวลาในการใช้ยานั้น ขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน
ในส่วนของกลไกการออกฤทธิ์หลักของยาพรัสเซียนบลู คือ ยาจะไปจับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังลดการดูดกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา (Enterohepatic recirculation)
อย่างไรก็ตาม ยาพรัสเซียนบลูมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น จากการได้รับยาในขนาดที่ใช้ในการรักษาได้ เช่น ท้องผูก หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้
ทั้งนี้ ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง เนื่องจากสารเคมีที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเป็นยา และอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ การรักษาด้วยยาชนิดนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์
นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี มีการสำรองยาพรัสเซียนบลูไว้ แต่เนื่องจากตลอด 20 ปี ไม่ได้ใช้งานยาจึงหมดอายุ ดังนั้น ขณะนี้ไทยจึงยังไม่มียาพรัสเซียนบลู แต่ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการจัดซื้อยาเพื่อเตรียมพร้อมต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลจะให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาพรัสเซียนบลู ได้ใช้ยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยแนะนำให้ใช้เฉพาะในการดูแลของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากพรัสเซียนบลูมีหลายเกรด อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าขณะนี้ประชาชนทั่วไปยังไม่มีความเสี่ยงจนต้องใช้ยาพรัสเซียนบลู เนื่องจากปริมาณรังสีมีน้อย และอยู่ในพื้นที่ปิด แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มคนงาน
“ซีเซียมที่หายไปมีขนาดประมาณ 500 ไมโครกรัม หรือ 0.5 มิลลิกรัม เมื่อเทียบกับยาพาราเซตามอลที่มีขนาด 500 มิลลิกรัม แสดงให้เห็นว่าซีเซียมที่หายไปมีขนาดเล็กมาก” นพ.วินัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 66)
Tags: Prussian blue, กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี, ซีเซียม-137, ปรัสเซียนบลู, ปราจีนบุรี, วินัย วนานุกูล, สารกัมมันตรังสี