กูรู มองศก.ไทยปีนี้ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงใน-ตปท.

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2566 ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ “ถึงเวลาก้าวสู่ทรงใหม่ ไทยแลนด์” ในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2566” โดยคาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3.4% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องเผชิญอีกมาก โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่คงไม่ถึงขั้นหดตัว, ปัญหาสถาบันการเงินขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะมีผลกระทบมาถึงภาคการส่งออกของไทยได้

ทั้งนี้ เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยว จะเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้  โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ราว 25-30 ล้านคน ขณะเดียวกันปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังมีความน่าเป็นห่วง ซึ่งจะกดดันการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในระดับฐานราก ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่ยังปรับขึ้น โดยคาดว่ารอบนี้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สอดคล้องกับการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่แม้จะยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ลดระดับความร้อนแรงลง
นายอมรเทพ ยังกล่าวถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ค.นี้ ว่า จะเป็นทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ซึ่งในส่วนของปัจจัยบวก จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้าไปหมุนเวียนในระดับชุมชน โดยเฉพาะในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ ทำให้เม็ดเงินกระจายตัวไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้ทั่วถึงขึ้น เพราะจะต้องมีการเลือกตั้งในทุกพื้นที่ของประเทศ จากเดิมที่เศรษฐกิจไทยยังกระจายตัวได้ไม่ดีเท่าที่

ส่วนปัจจัยลบที่มีความเป็นห่วง คือความล่าช้าของการเริ่มใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ซึ่งโดยปกติแล้วจะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม ดังนั้นต้องติดตามว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วหรือไม่ เพราะหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทำได้ล่าช้า ก็อาจจะไม่สามารถเริ่มใช้งบประมาณปี 67 ได้ทันใน ต.ค.ปีนี้ ซึ่งงบประมาณจะถูกนำไปใช้ในปีปฎิทินถัดไปและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจปี 66 ได้

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล. ภัทร ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ราว 3.5% ถือว่าฟื้นตัวขึ้นจากปี 65 แต่มองว่าภายใต้การฟื้นตัวดังกล่าวเป็นการฟื้นตัวที่ประกอบด้วย 3 ลักษณะ คือ 1.ฟื้นตัวแบบไม่เต็มที่ 2.ฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง และ 3.ฟื้นตัวแบบมีห่วง ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยปีนี้มีแนวโน้มจะเติบโตได้ในระดับต่ำ จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
 
สำหรับวิกฤตความเชื่อมั่นสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกาและยุโรปในรอบนี้ มองว่าธนาคารกลางต่างมีบทเรียนจากในอดีต จึงสามารถออกมาควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การอัดฉีดสภาพคล่อง การขยายการประกันเงินฝาก ซึ่งช่วยให้ปัญหาไม่ลุกลามบานปลาย และช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี วิกฤตความเชื่อมั่นสถาบันการเงิน ยังคงเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดได้ว่าจะลุกลามไปยังจุดอ่อนไหนอีก นอกจากนี้ ผลกระทบทางอ้อม ด้านความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป อาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงขึ้น และมีโอกาสหดตัวในช่วงกลางปีนี้ได้ จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ และยุโรป จะไม่เข้าสู่ขั้นถดถอย
 
นายพิพัฒน์ ยังเชื่อว่าธนาคารสหรัฐ (เฟด) ยังมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่ใช่การปรับขึ้นในอัตราที่สูงมาก เนื่องจากต้องคำนึ่งถึงผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของสหรัฐเองด้วย ซึ่งจากเดิมที่คาดว่าเพดานสูงสุดดอกเบี้ยของเฟดจะขึ้นไปที่ 6% ก็อาจจะเหลือ 5.50% ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จากเดิมที่มองว่าจะขึ้นไปสูงสุดที่ 2.25% ก็จะเหลือที่ระดับ 2%
 
ส่วนการเลือกตั้งในเดือนพ.ค.นี้ จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ทั้งนี้ มองว่านโยบายที่จำเป็น คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งมีความท้าทายสูง เพราะโอกาสในการหาแหล่งรายได้ใหม่ของภาครัฐมีจำกัดมากขึ้น ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะลดความจำเป็นลง เพราะการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ซึ่งรัฐบาลควรให้การสนับสนุนผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในหัวข้อ “Climate Change” ความเสี่ยงและโอกาสสำหรับประเทศไทย ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่จะมีผลกระทบและเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ไม่เฉพาะผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ทั้งจากความรุนแรงและความถี่ที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ตลอดจนปัญหาสภาพอากาศจากฝุ่น PM2.5
 
นายเกรียงไกร มองว่า ภาคการส่งออกในปีนี้มีความท้าทายอย่างมากจากปัจจัยภายนอกหลายประการ ไม่ว่าเป็นวิกฤติสถาบันการเงินในต่างประเทศ กฎระเบียบทางการค้าของประเทศผู้นำเข้าที่มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยยึดโยงไปกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะจากทั้งสหรัฐ หรือสหภาพยุโรป โดยเฉพาะมาตรการ CBAM ของยุโรป ที่จะทำให้สินค้าที่กระบวนการผลิตมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากจะต้องถูกเก็บภาษีนำเข้ามากขึ้น โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ โดยใน 5 อุตสาหกรรมหลักที่จะได้รับผลกระทบคือ เหล็ก เยื่อกระดาษ ซีเมนต์ เซรามิก และปิโตรเคมี ซึ่งครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ใน ส.อ.ท.ทั้งหมด

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องเร่งแก้ไขและปรับตัว ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่อาจจะไม่มีปัญหามาก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการปรับตัวของบริษัทที่เป็น SME ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ซึ่ง ส.อ.ท.จึงได้มีการจัดตั้งสถาบัน Climate Change ขึ้นเพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือกับมาตรการต่างๆ ของประเทศผู้นำเข้า

นายเกรียงไกร ยังมองว่า การดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม จะเข้ามาเป็นเกมเปลี่ยนโลกที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักและให้ความสำคัญ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหนีกระแส disrupt จากปัญหาต้นทุนและค่าแรงงาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การแข่งขันยากลำบากนี้ไปสู่อุตสาหกรรมอนาคต ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV), อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแพทย์, อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ในขณะที่รัฐบาลได้ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว) ซึ่งประเทศไทยมีแต้มต่อในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ อันจะนำไปใช้เป็นฐานสำหรับการผลิตสินค้าที่หลากหลาย และใช้เป็นจุดดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ดี

“เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน อยากได้รัฐบาลที่เข้าใจ และทันเกมทันโลก รู้ถึงการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้วางแผนและเดินไปข้างหน้าด้วยกัน” ประธาน ส.อ.ท.ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top