ซิตี้กรุ๊ปเปิดเผยรายงานในวันนี้ (22 มี.ค.) ระบุว่า ธนาคารในภูมิภาคเอเชียอาจจะเผชิญกับความยากลำบากในการระดมเงินทุนด้วยการออกตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 หลังจากหน่วยงานของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้ตัดมูลค่าตราสาร AT1 ของเครดิต สวิส เหลือศูนย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการเทกโอเวอร์กิจการโดยธนาคารยูบีเอส
สถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความยากลำบากอย่างฉับพลันให้กับบรรดาธนาคารขนาดเล็กในเอเชียซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการระดมทุนผ่านการออก AT1 เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดเล็กในฝั่งตะวันตกที่ไม่ได้พึ่งพาการระดมทุนด้วยวิธีดังกล่าวมากนัก
ภายใต้ข้อตกลงการเทกโอเวอร์กิจการนั้น หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ตราสาร AT1 ของเครดิต สวิสซึ่งระบุราคาหน้าตั๋วไว้ที่ 1.6 หมื่นล้านฟรังก์ (1.735 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะถูกตัดมูลค่าเหลือศูนย์ ซึ่งข้อตกลงในส่วนนี้ได้สร้างความวิตกกังวลต่อตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก และสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาผู้ถือ AT1
โดยทั่วไปแล้ว โครงสร้างทุนของธนาคารพาณิชย์จะมีตราสาร AT1 ในอัตราส่วนสูงกว่าหุ้นสามัญ และหากธนาคารประสบปัญหา กลุ่มผู้ถือตราสารหนี้เหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่นักลงทุนต้องการเงินคืน แต่การที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ตัดมูลค่า AT1 ของเครดิต สวิสเหลือศูนย์ จะส่งผลให้กลุ่มผู้ถือ AT1 ได้รับความเสียหายเป็นเงินสูงถึง 2.75 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ว่า การล่มสลายของเครดิต สวิส จะส่งผลให้มีการปรับมูลค่าตราสารหนี้ AT1 ในโครงสร้างทุนของธนาคารพาณิชย์ทั่วภูมิภาคเอเชีย
“ธนาคารในเอเชียที่พึ่งพาตราสาร AT1 อาจจะเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการเพิ่มฐานเงินทุน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธนาคารเหล่านี้ชะลอการขยายงบดุลบัญชี ในขณะเดียวกันสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้แนวโน้มเงินเฟ้ออ่อนตัวลงและทำให้เกิดการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย”
“หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินในเอเชียอาจจะเพิ่มความเข้มงวดของข้อกำหนดด้านเงินทุนและสภาพคล่อง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบมากขึ้นต่อธนาคารขนาดเล็ก”
ซิตี้กรุ๊ป กล่าว
อย่างไรก็ดี ซิตี้กรุ๊ปมองว่า ในระยะยาวนั้น วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครดิต สวิส อาจจะไม่สร้างความเสียหายต่อตลาด AT1 ในเอเชียเป็นวงกว้าง เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลในเอเชียมีการกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองนักลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้แบบครอบคลุม
เมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.) บริษัทกฎหมาย Quinn Emanuel Urquhart & Sullivan เปิดเผยว่า ทีมนักกฎหมายจากสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐ และสหราชอาณาจักร กำลังเจรจากับผู้ถือตราสาร AT1 ของเครดิต สวิส เพื่อพิจารณาการดำเนินคดี เนื่องจากมีแนวโน้มว่า พวกเขาจะไม่ได้รับสิทธิในการเรียกร้องเงินชดเชยในข้อตกลงที่ยูบีเอสเข้าซื้อกิจการของเครดิต สวิส
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิส จะไม่มีสิทธิในการรับเงินชดเชย แต่ผู้ถือหุ้นสามัญกลับได้รับเงินชดเชย 3.23 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าผู้ถือหุ้นสามัญมักมีอันดับเป็นรองผู้ถือตราสารหนี้ในการได้รับเงินชดเชยในกรณีธนาคารล้มละลาย
ทั้งนี้ กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อผูกมัดที่จะต้องยึดตามโครงสร้างลำดับชั้นเกี่ยวกับเงินทุนในกรณีที่มีการปรับโครงสร้าง ซึ่งส่งผลให้ผู้ถือ AT1 ของเครดิต สวิสไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 66)
Tags: AT1, ซิตี้กรุ๊ป, ธนาคาร, ยูบีเอส, เครดิตสวิส, แบงก์เอเชีย