นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม. เชิญชวนประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ร่วมกันแสดงพลังลดภาวะโลกร้อน โดยพร้อมใจกันปิดไฟที่ไม่ใช้งาน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 20.30 – 21.30 น. พร้อมกับพร้อมกับเมืองต่าง ๆ กว่า 7,000 เมือง ใน 190 ประเทศทั่วโลก
สำหรับจุดปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ในกรุงเทพฯ จะประกอบด้วย 5 สถานที่หลัก ได้แก่ 1.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง 2.วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร 3.เสาชิงช้า 4.สะพานพระราม 8 และ 5.วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง)
นอกจากนี้ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้รณรงค์เชิญชวนผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร สถานที่ อาทิ เอ็มควอเทียร์ ดิเอ็มโพเรียม เซ็นทรัลเวิลด์และห้างสรรพสินค้าเครือเซ็นทรัล ไอคอนสยาม ไบเทคบางนา อาคารการไฟฟ้านครหลวง (บางนา) เทอมินอล 21 อาคารปูนซีเมนต์ไทย เกทเวย์@บางชื่อ อาคารไบหยก โรงแรมเดอะสุโกศล แฟชั่นไอส์แลนด์ พาราไดซ์พาร์ค อาคารทิปโก้ ฯลฯ ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ และยังมีอาคารบ้านเรือนในถนนมากกว่า 100 สาย พร้อมใจกันร่วมปิดไฟที่ไม่ใช้งาน ลดใช้พลังงานในวันดังกล่าวด้วย
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า ปีนี้ กทม. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และภาคีเครือข่าย ภายใต้การดำเนินงานโครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) จัดงาน “Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก” ในวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2566 ระหว่างเวลา 16.30 – 21.30 น. ณ บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน โดยมีกิจกรรมส่งเสริมลดการใช้พลังงานหลากหลายรูปแบบ อาทิ ฟังทอร์ค เดินดูบูธ และเยี่ยมชมนิทรรศการ เพื่อ “ร่วมจินตนาการ…เปลี่ยนผ่านพลังงานในรุ่นเรา” อีกทั้งร่วมฟังเวทีเสวนานโยบายด้านพลังงาน และมาร่วมปิดไฟที่ไม่จำเป็น ในกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2023)
ทั้งนี้ ผลจากการจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour)” ในปี 2565 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 78 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 20 ตัน และคิดเป็นมูลค่า 176,172 บาท และจากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 – 2565 สามารถลดกระแสไฟฟ้าได้ 22,476 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 12,255 ตัน คิดเป็นมูลค่า 81 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มี.ค. 66)
Tags: กทม., ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ลดโลกร้อน