นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการยืนยันตัวตนของผู้ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 ณ วันที่ 17 มี.ค.66เวลา 13.00 น. มีผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว 10,058,399 ราย
สำหรับจำนวนผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ตามโครงการฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,063,184 ราย โดยสามารถขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ ขออุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th ตั้งแต่เวลา 06.00 – 23.00 น. ของทุกวัน
หรือขออุทธรณ์ผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงไทย,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด, ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ, สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และศาลาว่าการเมืองพัทยา ตามวัน-เวลาทำการ ของแต่ละหน่วยงาน
นายพรชัย กล่าวว่า สำหรับเดือนมีนาคม 2566 ผู้ลงทะเบียนสามารถขอตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติ และขออุทธรณ์ได้ที่สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัดได้ทุกวัน รวมวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 11 มี.ค.66 สำหรับผู้ผ่านเกณฑ์สามารถไปยืนยันตัวตนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ได้ทุกวัน รวมวันเสาร์-อาทิตย์ โดยสาขาทั่วไป ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. และสาขาในห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่เวลา 11.00-16.00 น.
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การยืนยันตัวตนที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.นั้น ผู้ผ่านเกณฑ์จะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) ในการยืนยันตัวตน ตามวันและเวลาทำการของแต่ละธนาคาร และเมื่อยืนยันตัวตนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ผ่านเกณฑ์ต้องตรวจสอบสถานะการยืนยันตัวตนของตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือhttps://welfare.mof.go.th ในวันถัดไป
ทั้งนี้ ผู้ผ่านเกณฑ์ต้องดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนกับธนาคารใดก็ได้ เนื่องจากการผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้ล่วงหน้า จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการฯ สะดวกในการรับสิทธิสวัสดิการในกรณีที่ภาครัฐให้สวัสดิการเป็นเงินโอนเข้าบัญชีในอนาคต โดยหากผู้ผ่านเกณฑ์ดำเนินการยืนยันตัวตนภายในวันที่ 1- 26 มี.ค. 66 และตรวจสอบแล้ว พบว่าผ่านการยืนยันตัวตน (e-KYC) จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66
แต่หากผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติยืนยันตัวตนหลังวันที่ 26 มีนาคม 2566 จะได้ใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐได้ตามวันที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยรายละเอียดช่วงเวลาการยืนยันตัวตนและวันที่เริ่มใช้สิทธิ ดังนี้
ช่วงเวลาการยืนยันตัวตน | วันที่เริ่มใช้สิทธิ | การได้รับสิทธิ |
1 – 26 มี.ค.66 | 1 เม.ย.66 | รับสิทธิตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66 เป็นต้นไป |
27 มี.ค.- 26 เม.ย.66 | พ.ค.66 | รับสิทธิย้อนหลังได้ไม่เกิน 3 เดือน นับจากเดือนแรกที่เริ่มใช้สิทธิได้(สิทธิย้อนหลังจะให้เฉพาะวงเงินการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านธงฟ้าราคา) |
27 เม.ย.-26 พ.ค.66 | 1 มิ.ย.66 | |
27 พ.ค.-26 มิ.ย.66 | 1 ก.ค.66 | |
27 มิ.ย.66 เป็นต้นไป | 1 ส.ค.66 | ไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง โดยจะได้รับสิทธิเฉพาะเดือนที่กระทรวงการคลังดำเนินการตั้งวงเงินให้ |
สำหรับผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐปัจจุบัน จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.66 เท่านั้น
นอกจากนี้ สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ สามารถขออุทธรณ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-1 พ.ค.66 (62 วัน) โดยดำเนินการผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ ขออุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.thหรือ https://welfare.mof.go.th ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 – 23.00 น. ของทุกวัน
หรือขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทยฯ ธ.ก.ส. สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร หรือศาลาว่าการเมืองพัทยาตามวันและเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน โดยให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนเป็นผู้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติ ซึ่งผู้ไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนก่อนดำเนินการยื่นอุทธรณ์
โฆษกกระทรวงการคลัง เน้นย้ำว่า สำหรับผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ได้ทำการยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว จะต้องดำเนินการขอตรวจสอบและ/หรือขอแก้ไขข้อมูล โดยต้องติดต่อที่หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติที่ผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้วยตนเอง หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติกำหนด เพื่อขอปรับปรุงหรือแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ซึ่งผู้อุทธรณ์จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 พ.ค.66 โดยกระทรวงการคลังจะประมวลผลการอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะประกาศผลการอุทธรณ์ให้ทราบต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 66)