ผนึกกำลังปราบซิมผี-บัญชีม้า โทษโหดทั้งจำ-ปรับ มั่นใจคดีลดลง

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (17 มี.ค.) เป็นกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จนทำให้สูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งในแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูง รวมทั้งยังช่วยรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มาหารือร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงาน และช่องทางสำหรับให้ประชาชนผู้เดือดร้อนแจ้งเรื่อง

โดยหลังจากนี้ กระทรวงฯ จะนำเสนอนายกรัฐมนตรีให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางรายละเอียดต่างๆ ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามที่ได้หารือกันในวันนี้ต่อไป

“เมื่อ พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศใช้แล้ว ผู้เสียหายสามารถแจ้งต่อธนาคารให้ระงับบัญชีม้าได้ทันที ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญ ที่รัฐบาลผลักดันออกมา เพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ และปัญหาอาชกรรมทางออนไลน์ทั้งหมด คาดว่าจากนี้ปัญหาจะลดลงอย่างแน่นอน” ปลัดกระทรวงดีอีเอส ระบุ

สำหรับบทลงโทษสูงสุดของผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาภัยทางการเงินได้อย่างตรงจุด และเมื่อผนวกกับชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของ ธปท. ที่จะยกระดับการป้องกัน ตรวจจับ ตอบสนองและรับมือต่อภัยการเงินในภาคการธนาคารให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว จะช่วยให้การแก้ปัญหาทำได้ครบวงจรยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามและเร่งให้สถาบันการเงิน ดำเนินการตาม พ.ร.ก. และมาตรการของ ธปท. ให้แล้วเสร็จตามกำหนด รวมถึงประเมินประสิทธิผล เพื่อปรับปรุงการรับมือของภาคการธนาคารต่อภัยการเงินอย่างต่อเนื่องและเท่าทัน

 

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญทำให้การจัดการภัยทางการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้กระทำผิด รวมทั้งผู้เปิดบัญชีม้า และผู้ให้การสนับสนุน

ขณะที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ตำรวจ และธนาคาร จะสามารถแชร์ข้อมูลผู้กระทำผิดข้ามธนาคารได้โดยอัตโนมัติ และสามารถบล็อกบัญชีที่ต้องสงสัยชั่วคราวไว้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอแจ้งความ เพื่อลดบัญชีม้าที่มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการเอาเงินออกจากบัญชีผู้เสียหายได้

“จะมีการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างธนาคาร เบื้องต้น เราจะไม่รอให้ระบบพร้อม แต่จะใช้วิธี manual ไปก่อน เมื่อระบบพร้อม ซึ่งคาดว่าเสร็จในไตรมาส 3 ทุกอย่างจะเป็น real time มากขึ้น และเราจะประสานใกล้ชิดกับ กสทช., ผู้ให้บริการมือถือ, wallet, ผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อจะหยุดยั้งมิจฉาชีพที่ใช้บัญชีม้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายผยง ระบุ

 

พล.ต.ท. วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว เปิดให้ผู้เสียหาย สามารถแจ้งความกับพนักงานสอบสวนได้ที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ หรือผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเตรียมความพร้อมในส่วนพนักงานสอบสวน และระบบการรับแจ้งความออนไลน์ ให้รองรับ พ.ร.ก.ฉบับนี้

ทั้งนี้ ตำรวจมีข้อมูลว่า มีบัญชีซึ่งมีธุรกรรมต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นบัญชีม้า อยู่ราว 3 หมื่นบัญชี ดังนั้น จึงอยากให้คนที่หลงผิด รีบไปปิดบัญชี เพราะไม่เช่นนั้นจะมีโทษทางอาญา ซึ่งตามกฎหมายสามารถจับกุมได้ทันที รวมถึงผู้มีซิมผี ที่ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่นำไปให้ผู้อื่นใช้เพื่อการกระทำผิด ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม จะถือว่าทั้งซิมผีและบัญชีม้ามีความผิดตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา ตำรวจได้รับแจ้งความการถูกหลอกลวงให้โอนเงินแล้วถึง 210,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 31,000 ล้านบาท

 

พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า กลไกหลักที่สำคัญในการจัดการกับบัญชีม้า คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างสถาบันการเงินเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงผู้ประกอบการโทรศัพท์ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามี หรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ ต้องเปิดเผยข้อมูล หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่น่าสงสัย รวมทั้งสามารถระงับบัญชีต้องสงสัยได้เป็นการชั่วคราว ไม่ต้องรอเกิดเหตุ เพื่อเป็นการป้องกัน

สำหรับประชาชนผู้เสียหาย สามารถโทรแจ้งให้ธนาคารระงับบัญชีต้องสงสัยได้ทันที และยับยั้งการโอนเงินทุกธนาคารที่รับโอนเงินต่อ และกฎหมายนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัย สาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้กำชับให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกราย ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์ และปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดความระมัดระวังตัวจากกลโกงของมิจฉาชีพ

 

นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า ได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพ.ร.ก.ฉบับนี้ โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการรองรับข้อมูลที่ได้จากธนาคาร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจัดทำรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือการฟอกเงินจัดส่งให้กับธนาคาร เพื่อเฝ้าระวังและระงับช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายบัญชีม้าหรือคาดว่าจะเป็นบัญชีม้า เพื่อไม่ให้ถูกใช้ในการกระทำความผิดต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top