สื่อต่างประเทศหลายแห่งซึ่งรวมถึงซีเอ็นบีซี และไฟแนนเชียล ไทม์สรายงานว่า การล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank – SVB) ซึ่งเป็นธนาคารรายสำคัญที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจสตาร์ตอัปในกลุ่มเทคโนโลยีนั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มสตาร์ตอัปของจีน โดยเฉพาะสตาร์ตอัปที่ต้องพึ่งพาเงินทุนในรูปสกุลเงินดอลลาร์
ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปชาวจีนรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีว่า SVB ได้สร้างธุรกิจจากการเป็นผู้สนับสนุนสตาร์ตอัปในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงสตาร์ตอัปในจีน โดย SVB ได้สร้างระบบการเปิดบัญชีทางออนไลน์และกำหนดให้ผู้ใช้งานที่เป็นสตาร์ตอัปในจีนกรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อยืนยันตัวตน
ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปรายนี้ยังกล่าวด้วยว่า เขาฝากเงินไว้ที่ SVB มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ และจากนั้นเขาได้ถอนเงินออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีเงินที่ติดค้างอยู่ที่ SVB จำนวนกว่า 250,000 ดอลลาร์
“นอกเหนือไปจากการสนับสนุนกลุ่มบริษัทร่วมทุน (Venture Capital) ซึ่งเป็นธุรกิจกระแสหลักแล้ว กลุ่มสตาร์ตอัปยังสามารถเปิดบัญชีกับ SVB ได้ง่าย ๆ ภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ส่วนธนาคารแบบดั้งเดิมเช่นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด, เอชเอสบีซี หรือซิตี้กรุ๊ป จะมีข้อกำหนดที่เข้มงวดกว่า และต้องใช้เวลานานกว่าที่สตาร์ตอัปจะสามารถเปิดบัญชีกับธนาคารเหล่านี้ได้ โดยอาจจะใช้เวลานาน 3-6 เดือน”
“ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบริษัทร่วมทุนจึงชอบที่จะทำงานกับ SVB เพราะ SVB อนุญาตให้นักลงทุนสามารถเห็นภาพรวมและอนุมัติให้สตาร์ตอัปใช้เงินทุนได้”
“หากไม่มี SVB อุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็คงจะย่ำแย่ เพราะไม่มีธนาคารรายใดจะอนุมัติเงินกู้ให้กับธุรกิจสตาร์ตอัปและธุรกิจร่วมทุนได้ง่าย ดังนั้น การมีบัญชีธนาคาร SVB จะช่วยให้สตาร์ตอัปในจีนสามารถที่จะเข้าถึงเงินทุนของนักลงทุนในสหรัฐได้” ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปชาวจีนกล่าวกับซีเอ็นบีซีโดยไม่ประสงค์ออกนาม อันเนื่องมาจากความอ่อนไหวของสถานการณ์
ทางด้านไฟแนนเชียล ไทม์สรายงานในทำนองเดียวกันว่า การล้มละลายของ SVB ได้สร้างความยากลำบากให้กับกลุ่มสตาร์ตอัปในจีน เนื่องจาก SVB เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมด้านเงินทุนที่สำคัญระหว่างผู้ประกอบการสตาร์ตอัปของจีนและสหรัฐ นอกจากนี้ ยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับกลุ่มบริษัทร่วมทุนในจีนที่ทำธุรกรรมกับธนาคารเซี่ยงไฮ้ ผู่ตง ดิเวลลอปเมนท์ แบงก์ โดยธนาคารแห่งนี้ยังคงรักษางบดุลบัญชีที่แยกออกมาต่างหากและมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 2.1 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไฟแนนเชียล ไทมส์ยังระบุด้วยว่า SVB มีบทบาทสำคัญในกลุ่มธุรกิจจีนที่ต้องใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการระดมทุน ซึ่งโดยปกตินั้น กลุ่มสตาร์ตอัปในจีนจะฝากเงินไว้ใน SVB ก่อนที่จะโอนเข้าสู่จีน
ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤตการณ์ SVB ไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและหลายครั้งติดต่อกันถือเป็นต้นเหตุของปัญหา เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัปและบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของ SVB
นอกจากนี้ ต้นเหตุของปัญหายังรวมถึงการที่ SVB รับฝากเงินและปล่อยกู้แบบกระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มบริษัทร่วมทุน, บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) และกลุ่มสตาร์ตอัป ซึ่งธุรกิจในภาคส่วนนี้มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเนื่องจากต้องกู้เงินเพื่อต่อยอดธุรกิจ และเมื่อต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ธุรกิจเหล่านี้จึงต้องแห่ถอนเงินฝากเพื่อนำมาใช้ในธุรกิจ ส่งผลให้ SVB ต้องเพิ่มทุนด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลที่ถือไว้ แต่ราคาพันธบัตรก็ปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด จึงทำให้ SVB จำใจต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว ซึ่งทำให้ขาดทุน และนำไปสู่การล้มละลายในที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 66)
Tags: SVB, จีน, สตาร์ตอัป