OR ส่งสัญญาณ Q1/66 สดใสรับค่าการตลาดกลับสู่ปกติ-ปริมาณขายน้ำมันโต

น.ส.วิไลวรรณ กาญจนกันติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบริหารการเงิน บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/66 จะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/65 หลังจากค่าการตลาด (Marketing margin) กลับมาสู่ภาวะปกติที่ราว 0.70-1.30 บาท/ลิตร รวมถึงปริมาณขายน้ำมันก็เพิ่มขึ้นรับการเปิดประเทศและการบริโภคฟื้นตัว

ขณะที่ผลงานทั้งปี 66 มั่นใจว่าจะเติบโตดีกว่าปีก่อน โดยประเมินปริมาณขายน้ำมันจะสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่คาดว่าจะเติบโตราว 2.7-3.7% หลังจากการเปิดประเทศคาดนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาในปีนี้ราว 28 ล้านคน และเงินเฟ้อคาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 2.5-3.5% รวมถึงการเลือกตั้งหนุนบรรยากาศทางเศรษฐกิจด่วย

แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันผันผวน เบื้องต้นยังประเมินราคาน้ำมันปี 66 เฉลี่ยที่ 80-87 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี (66-70) บริษัทยังคงงบลงทุนรวม 1.01 แสนล้านบาท ให้น้ำหนักลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Lifestyle มากที่สุดประมาณ 33.3% เนื่องจากมี EBITDA Margin สูง และกลุ่มธุรกิจ Mobility ในสัดส่วน 30.9% ที่เหลือจะเป็นธุรกิจ Innovation & New business 19.6% และธุรกิจต่างประเทศ (Global) 16.2%

ในปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุน 31,200 ล้านบาท แบ่งเป็น 45% ลงทุนใน Lifestyle ผ่านการหาพาร์ทเนอร์ หรือการร่วมลงทุน (M&A) ในวงเงิน 14,200 ล้านบาท และอีก 7,000 ล้านบาท จะใช้ขยาย Cafe Amazon เพิ่มอีก 400 แห่ง , Texas Chicken อีก 12 แห่ง และอื่นๆ

ด้านการลงทุนในธุรกิจ Mobility แบ่งเป็น 22% หรือ 6,800 ล้านบาท ใช้ขยายสถานีให้บริการปั๊มน้ำมัน (PTT Station) 122 แห่ง ,ใช้ขยายสถานนีชาร์ทรถพลังงาน (EV Station) อีก 500 แห่ง เพื่อหวังขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจดังกล่าว และกลุ่มธุรกิจ Innovation & New business ราว 17% หรือ 5,200 ล้านบาท เพื่อหาโอกาสการลงทุนใหม่และแพลตฟอร์ม เทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจหลัก

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า สำหรับรายการลูกหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากภาครัฐ มาจากการคงค้างการชำระคืนเงินกองทุนน้ำมัน อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนน้ำมันค้างรับที่ภาครัฐมีการค้างไว้กับ OR เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น จากสิ้นปี 65 รัฐบาลคืนเงินมาบางส่วน ทำให้เงินคงค้างชำระลดลงมาอยู่ที่ราว 30,000 ล้านบาท และลดลงต่อเนื่องจนต้นเดือน มี.ค.66 เหลือประมาณ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้รับเงินกู้จากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มาทยอยคืนให้ภาคเอกชน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top