“กอบศักดิ์” ห่วง Credit Suisse อาจไม่ใช่รายสุดท้ายมีสิทธิกระเทือนถึงไทยแต่ยังเชื่อพื้นฐานแกร่งพอ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แชร์มุมมองผ่านเฟซบุ๊ค ถึงกรณีปัญหาของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ว่า หลังตลาดกดดันมาทั้งวัน จนหุ้น Credit Suisse ทรุดลงไปมากกว่า 30% ใน 1 วัน สุดท้าย ธนาคารกลางสวิส (SNB) และผู้กำกับสถาบันการเงินสวิส (FINMA) ประกาศพร้อมช่วยเหลือ Credit Suisse

FINMA ได้ติดตามหารือกับ Credit Suisse อย่างใกล้ชิด และได้ดูข้อมูลของธนาคารในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่กฏหมายกำกับสถาบันการเงินได้กำหนดไว้ FINMA ขอยืนยันว่าฐานะการเงินของ Credit Suisse ทั้งเงินทุนและสภาพคล่องยังเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และหากจำเป็นธนาคารกลางสวิสจะจัดสภาพคล่องที่ต้องการให้กับ Credit Suisse

พูดง่ายๆ คือ ทางการได้เข้าไปดูข้อมูลแล้ว และขอให้สบายใจว่าหาก Credit Suisse มีปัญหา ธนาคารกลางสวิสจะจัดให้ ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะ Credit Suisse เป็นธนาคารที่สำคัญกว่า Silicon Valley Bank มาก โดยมีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 6 แสนล้านดอลลาร์ เป็นธนาคารขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิส อายุราว 167 ปี ฝังรากลึกมีโครงข่ายเชื่อมโยงกับธนาคารต่างๆในยุโรปและในสหรัฐอย่างลึกซึ้ง ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มได้ เพียงผลจากเมื่อคืนนี้แค่ความกังวลใจก็ทำให้หุ้นธนาคารอื่นๆ ในยุโรปก็ร่วงตามเป็นแถวๆ

Societe Generale -12.2%

BNP Paribas -10.1%

ING -9.6%

BBVA -9.6%

และยังกระจายไปทั้งภูมิภาค ตลาดหุ้นอังกฤษ สเปน อิตาลี ตกไปประมาณ 4% ใน 1 วัน กระทั่งธนาคารกลางอังกฤษก็ต้องจัดประชุมฉุกเฉินกับกลุ่มธนาคารกลางอื่นๆ เพื่อหารือแนวทางที่จะดูแลผลกระทบ

ทั้งนี้ แม้ Credit Suisse มีปัญหาเฉพาะตัวในหลายๆ เรื่อง ต่างจากธนาคารอื่นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งกรณีของสหรัฐและยุโรปชี้ไปถึงความเปราะบางในระบบสถาบันการเงินโลกที่เพิ่มขึ้นมากจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเกินคาด มา 1 ปีเต็มๆ ของธนาคารกลางต่างๆ ทำให้สถาบันการเงินจำนวนมากจัดการความเสี่ยงได้ไม่หมด มีความเสียหายซ่อนไว้ในพอร์ต พันธบัตรที่ถือจากการลงทุน

ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจซบเซาลง จากหนี้เสียต่างๆ ก็จะอ่อนแอลงไปเพิ่ม ทำให้ทุกคนพร้อมวิ่ง เมื่อมีประเด็นเกิดขึ้น ดังเช่นกรณี Credit Suisse เมื่อคืนนี้ เริ่มจากการสัมภาษณ์ธรรมดาๆ ที่ Saudi National Bank ตอบว่าได้ลงทุนไป 9.9% ของหุ้น Credit Suisse แล้ว หากเกิน 10% ก็จะเข้าสู่เกณฑ์ใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถลงเงินเพิ่มได้

แต่ข่าวที่ออกมา พาดหัวว่า “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Credit Suisse ปฏิเสธที่จะลงเงินต่อ ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือเพิ่ม” เนื่องจาก Credit Suisse มีแผลอยู่แล้ว คนจับตามองอยู่แล้ว มีปัญหาเกิดขึ้นเนืองๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่ตามมาจากคำพูดสั้นๆ ดังกล่าวจึงกลายเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกินคาดสะเทือนไปทั่วโลก

แต่ท้ายสุด เนื่องจาก Credit Suisse ใหญ่เกินไป สำคัญเกินไปให้ล้มไม่ได้ ทางการจึงต้องเข้ามาดูแลอย่างไม่มีทางเลือก

เมื่อคืนถือเป็นก้าวแรกในการประกาศช่วยเรื่องสภาพคล่อง ต่อไปหากจำเป็นคงต้องเข้าไปอุ้มผู้ฝากให้ชัดเจน และท้ายสุด หากจำเป็นจริงๆ คงต้องคิดหาทางออกให้ Credit Suisse กลับมามีเงินทุนที่เข้มแข็งอีกครั้ง เพื่อให้ผ่านไปได้ แต่ล้มไม่ได้

ระหว่างทาง โลกก็จะพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย กรณี Credit Suisse คงไม่ใช่กรณีสุดท้าย สถาบันการเงินต่างๆ คงก็จะต้องรับกับแรงกระแทก แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นไปอีกระยะ เพราะธนาคารกลางหลักหลายประเทศยังสู้ศึกเงินเฟ้อไม่จบ นำมาซึ่งบทใหม่ของ Perfect Storm ที่ลุกลามไปภาคสถาบันการเงินที่อ่อนไหว เปราะบางมากขึ้น ยิ่งข่าวสารสมัยนี้ ไปไว ธุรกรรมทางการเงินก็แค่ปลายนิ้วจิ้ม ในการถอนเงิน โอนเงิน ขายหุ้น เก็งกำไร ความปั่นป่วนต่างๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย กระเทือนเป็นลูกโซ่ เป็นทอดๆ รวมถึงประเทศไทย แต่ด้วยพื้นฐานของไทยเราที่ดีพอก็เชื่อว่าเราน่าจะผ่านไปได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top