Power of The Act:การซื้อขายไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ผ่านระบบบล็อกเชน: สัญญาซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะ

ในปัจจุบัน ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้จากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน เช่น เจ้าของอาคารสามารถผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนดาดฟ้าของอาคารหรืออาจเป็นกรณีที่เจ้าของอาคารผลิตไฟฟ้าจากกระจกพลังงานแสงอาทิตย์ เจ้าของอาคารเหล่านี้จะมีสถานะเป็นทั้งผู้ใช้ไฟฟ้า (เช่น ยังคงเป็นลูกค้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย) และขณะเดียวกันก็เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอีกด้วย เมื่อสามารถผลิตไฟฟ้าได้ เจ้าของอาคารเหล่านี้ย่อมประสงค์จะขายไฟฟ้าของตนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นและรับชำระราคาค่าไฟฟ้าจากผู้ซื้อดังกล่าว

การสร้างความสัมพันธ์ทางกฎหมายข้างต้นจำเป็นต้องมี “สัญญาซื้อขายไฟฟ้า” ระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าในลักษณะเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อซื้อขาย ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนโดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าว ทั้งนี้ ภายใต้ระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค (Peer-to-Peer Electricity Trading) นั้น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าสามารถเกิดขึ้นระหว่างเจ้าของอาคารหรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กกับผู้ใช้ไฟฟ้าที่รับไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟฟ้า คำถามที่ตามมาก็คือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะดังกล่าวจะ “เกิด” ในดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างไร หากผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าต้องให้ “ระบบคอมพิวเตอร์” ของตนสื่อสารกันเองเพื่อสร้างนิติสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขายและบังคับการตามสิทธิหน้าที่ดังกล่าวโดยอัตโนมัติจะมีความเป็นไปได้หรือไม่?

สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)

ในปี ค.ศ. 1996 Nick Szabo ได้เผยแพร่บทความชื่อ “Smart Contracts: Building Blocks for Digital Markets” อธิบายถึง “สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)” เอาไว้ว่าเป็น “กลุ่มของคำมั่น ซึ่งถูกระบุขึ้นในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งหมายรวมถึงข้อกำหนดที่ใช้เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับคู่สัญญาในการปฏิบัติตามคำมั่นที่ถูกกำหนดขึ้น” โดยสะท้อนถึงสารัตถะของสัญญาอัจฉริยะข้างต้น

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะของสัญญาอัจฉริยะเอาไว้ว่าเป็น “กระบวนการทางดิจิทัลที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมโดยอัตโนมัติไว้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง” โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะมีการตกลงกันก่อนหน้านี้ ถึงขั้นตอน กลไก ในการทำรายการธุรกรรม

นอกจากนี้ ETDA ยังได้อธิบายต่อไปว่า Nick Szabo ที่เป็นผู้เสนอไอเดียว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถใช้ในการบันทึกข้อตกลงของสัญญาที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง หรือใช้พนักงานในการมานั่งตรวจสอบเอกสาร โดยทุกอย่างให้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมจัดการ และการ “Hack” ข้อมูลทำได้ยาก

ผู้เขียนมีความเห็นว่าสัญญาอัจฉริยะที่เกิดขึ้นและถูกบังคับผ่านระบบบล็อกเชนนั้นสามารถถูกใช้เพื่อรองรับธุรกรรมการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยสัญญาที่เกิดขึ้นนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็น “สัญญาซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะ”

ตารางที่ 1

สัญญาซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะ

ผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าซึ่งซื้อขายไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์นั้นอาจประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและบล็อคเชนเพื่อทำให้เกิดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันในลักษณะกระจายศูนย์โดยผ่านการตั้งโปรแกรมเอาไว้ล่วงหน้าโดยสัญญาที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเกิดขึ้นในรูปของสัญญาอัจฉริยะ ผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าสามารถตกลงกันแปลงข้อสัญญาที่ตกลงกันเอาไว้เดิมให้กลายเป็น “รหัส (codes)” ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการเกิดสัญญาและ

การส่งมอบไฟฟ้าระหว่าง Prosumers หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มิได้ผลิตไฟฟ้า (โปรดดู Shafaq Naheed Khan et al., ‘Blockchain smart contracts: Applications, challenges, and future Trend’ (2021) 14 Peer-to-Peer Networking and Applications 2901, หน้า 2901)

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิต (ซึ่งประสงค์จะขายไฟฟ้า) สามารถทำข้อตกลงระหว่างตนกับผู้ใช้ไฟฟ้า (ซึ่งประสงค์จะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน) โดยมีข้อสังเกตว่าผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าในธุรกรรมนี้อาจมีจำนวนมากกว่าสองรายก็เป็นได้ กำหนดว่าหากมีคู่สัญญาฝ่ายผู้ผลิตรายใดสามารถผลิตไฟฟ้าได้จากแสงอาทิตย์ได้ คู่สัญญาฝ่ายผู้ซื้อจะรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวทันที โดยกำหนดให้ผู้ที่ผลิตไฟฟ้าได้มีหน้าที่ต้องส่งมอบไฟฟ้าที่ถูกผลิตขึ้นโดยอัตโนมัติผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของบุคคลอื่น (เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย)

โดยปกติแล้วข้อตกลงดังกล่าวมักจะเกิดขึ้น “บนหน้ากระดาษ” หรือ “เอกสารที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์” ข้อตกลงดังกล่าวก่อผลบังคับผูกพันธ์ทางกฎหมายได้ (กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีผล “ในโลกของกฎหมาย”) อย่างไรก็ตาม หากจะทำให้สัญญาเกิดและสามารถบังคับกันได้ใน “โลกดิจิทัล” ด้วยแล้วจะต้องมีการแปลงข้อสัญญาในรูปแบบดั้งเดิมให้สามารถทำงานในระบบบล็อกเชนเพื่อให้เกิดและบังคับ

การตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะได้ ผู้เขียนขอเสนอแนวทางการแปลงข้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนให้กลายเป็นรหัสในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะดังนี้

การแปลงข้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนให้กลายเป็นรหัสในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะ

ข้อสัญญาที่ตกลงกันในรูปแบบดั้งเดิม
(สัญญาที่ทำขึ้นในรูปกระดาษ)
 รหัส (Codes) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเงื่อนไขให้เกิด
และ ปฏิบัติการชำระหนี้ในสัญญาอัจฉริยะ
– ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้เป็นตกลงที่จะซื้อไฟฟ้าที่ผู้ผลิตผลิตได้จากระบบแผงโซลาร์โดยไม่มีเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามีส่วนในการผลิต– ในกรณีที่มีไฟฟ้าที่ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถผลิตได้จากระบบแผงโซลาร์ โดยไม่มีเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามีส่วนในการผลิต ระบบคอมพิวเตอร์จะรับรู้ว่าไฟฟ้านั้นมีลักษณะเป็น “ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นได้ (Available Electricity)”
– การซื้อขายเกิดขึ้นได้ทันทีที่มีไฟฟ้าข้างต้น เมื่อมีคู่สัญญาที่ประสงค์จะรับซื้อไฟฟ้าตามราคาที่เสนอ (ซึ่งอาจไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลาของวัน) โดยให้สัญญาเกิดตามลำดับ เวลาของการตกลง (first-come-first-serve basis)-โดยระบบคอมพิวเตอร์จะแสดงถึงปริมาณและราคาของ Available Electricity เอาไว้
– ผู้ที่ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคำสนองซื้อแล้วมีหน้าที่ต้องส่งมอบไฟฟ้าผลิตได้ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของบุคคลที่สาม และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อใช้บริการระบบโครงข่ายดังกล่าวเอง– เมื่อมี Available Electricity ตามราคาและปริมาณที่ระบุใน (1) และ (2) ให้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ล่วงหน้าในฝั่งผู้ซื้อพิจารณาว่าจะรับซื้อ Available Electricity ตามราคาหรือไม่ (ฝ่ายผู้ซื้อสามารถตั้งโปรมแกรมเอาไว้ล่วงหน้าได้ว่าจะซื้อไฟฟ้าปริมาณเท่าใด ในราคาใด และในเวลาใด)
– ผู้ซื้อมีหน้าที่รับการส่งมอบไฟฟ้าและชำระค่าไฟฟ้าในราคาค่าไฟฟ้าตามที่ได้รับการส่งมอบจริงโดยไม่ชักช้า-เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของฝั่งผู้ซื้อตอบรับคำเสนอขายให้เกิดสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ผลิตและผู้ที่ประสงค์จะรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวในราคาที่เสนอ (“เกิดสัญญา (Contract Conclusion)”)
– เมื่อเกิดสัญญาแล้ว ให้มีการส่งมอบไฟฟ้าโดยการส่งผ่านระบบโครงข่ายของบุคคลที่สาม (“การส่งมอบ (Delivery)”
– เมื่อมีการส่งมอบไฟฟ้า ผู้ขายจะชำระค่าตอบแทนทันทีผ่านระบบการชำระเงินออนไลน์ “การชำระหนี้เงิน” (Payment)
ตารางที่ 2

การนำรหัสกำหนดเงื่อนไขการเกิดและชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบบล็อกเชน

เมื่อคู่สัญญาได้จัดให้มีรหัสในการซื้อขายไฟฟ้าแล้ว รหัสเหล่านี้จะถูกนำเข้าสู่ระบบเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งเป็นระบบการเก็บข้อมูล (Data Structure) ซึ่งไม่มีตัวกลาง แต่ข้อมูลที่ได้รับการปกป้องจะถูกแชร์และจัดเก็บเป็นสำเนาไว้ในเครื่องของทุกคนที่ใช้ฐานข้อมูลเดียวกันเสมือนห่วงโซ่ (Chain) โดยสมาชิกในเครือข่ายทุกรายจะรับทราบร่วมกันว่าสมาชิกรายใดเป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลที่แท้จริง (โปรดดู Krungsri, ‘นวัตกรรมโอนเงินระหว่างประเทศยุคใหม่ ฉบับไวแบบเรียลไทม์’ (Krugnsri, 2021) โดยสามารถยกตัวอย่างการนำเอารหัสการการเกิดและชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ (ตามตารางที่ 1)

การเกิดนิติสัมพันธ์ผ่านระบบบล็อคเชน

รหัสการซื้อขายนั้นจะถูกใช้งานโดยคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายบล็อคเชนและก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะ (โปรดดู Stuart D. Levi and Alex B. Lipton, ‘An Introduction to Smart Contracts and Their Potential and Inherent Limitations’ (Harvard Law School, March 2023) หากเงื่อนไขที่กำหนดเกิดขึ้นครบถ้วนกล่าวคือเกิด “ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นได้ (Available Electricity)” ก็จะนำไปสู่การ “เกิดสัญญา (Contract Conclusion)” และนำไปสู่การส่งมอบ (Delivery) และท้ายที่สุด “การชำระหนี้เงิน (Payment)” (ตามตารางที่ 2)

จากแผนภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่าระบบบล็อกเชนนั้นทำหน้าที่เป็น “ตัวเชื่อม” ระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง เช่น การผลิตไฟฟ้า การทำคำเสนอและคำสนองเพื่อให้เกิดสัญญา (หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการเจรจากันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายผ่านระบบคอมพิวเตอร์) การส่งมอบไฟฟ้า และการชำระราคา กับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของกฎหมายกล่าวคือก่อให้เกิด “ผลทางกฎหมาย” ซึ่งคู่สัญญามีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เช่น หน้าที่ในการส่งมอบไฟฟ้าและหน้าที่ในการชำระราคาค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายไม่มีความจำเป็นจะต้องติดตามระบบคอมพิวเตอร์ของตนอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากสามารถตั้งโปรแกรมอัตโนมัติเอาไว้ล่วงหน้าได้

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีคำถามที่ตามมาได้ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นและมีการบังคับการตามนิติสัมพันธ์ “ในโลกดิจิทัล” ในบทความนี้เป็นที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และระบบกฎหมายไทยสามารถรองรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าโดยไม่ผ่านตัวกลางหรือไม่ เราจะร่วมกันหาคำตอบใน Power of the Act ตอนถัดไป

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top