ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดในวันอังคาร (14 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลหลังจากรัฐบาลสหรัฐและทั่วโลกได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถควบคุมวิกฤตการณ์ในภาคธนาคาร นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่อ่อนแรงลงยังเป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,155.40 จุด พุ่งขึ้น 336.26 จุด หรือ +1.06%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,919.29 จุด เพิ่มขึ้น 63.53 จุด หรือ +1.65% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,428.15 จุด พุ่งขึ้น 239.31 จุด หรือ +2.14%
นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารอันเนื่องมาจากการล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) หรือ SB หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และหน่วยงานของรัฐบาลทั่วโลกได้ให้คำมั่นว่าจะควบคุมวิกฤตการณ์ดังกล่าวไม่ให้ลุกลามจนสร้างความเสียหายต่อระบบธนาคาร
ทั้งนี้ สหรัฐได้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยกระทรวงการคลังสหรัฐยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ SVB และ SB สามารถเข้าถึงเงินฝากได้เต็มจำนวน ขณะที่เฟดประกาศจัดตั้งโครงการ “Bank Term Funding Program” เพื่อปกป้องสถาบันการเงินอื่นๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB และ SB
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. แทนที่จะปรับขึ้น 0.50% ตามที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ชะลอตัวลงในเดือนก.พ. ประกอบกับการที่เฟดมีความกังวลว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงจะส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารซึ่งกำลังเผชิญภาวะวิกฤตสภาพคล่องในขณะนี้
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 6.2% ในเดือนม.ค. และดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 5.6% ในเดือนม.ค.
ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ร่วงลง 10.52% สู่ระดับ 23.73 เมื่อคืนนี้ หลังพุ่งแตะระดับ 29.03 ในวันจันทร์ โดยหากดัชนีดีดตัวเหนือระดับ 30 จะบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยงและมีความผันผวนสูง
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสารพุ่งขึ้น 2.75% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้น 2.6% หลังจากที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในวันจันทร์
หุ้นธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐ ทะยานขึ้น 26.98% หลังจาก FRB ส่งจดหมายถึงลูกค้าเพื่อยืนยันว่าธนาคารยังคงมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง และสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดไว้
ส่วนหุ้นธนาคารระดับภูมิภาครายอื่นๆ ดีดตัวขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นแพคเวสต์ (PacWest) พุ่งขึ้น 33.85% หุ้นคีย์คอร์ป (KeyCorp) ดีดตัวขึ้น 6.57% และหุ้นเวสเทิร์น อัลลิอันซ์ แบงคอร์ป (Western Alliance Bancorp) พุ่งขึ้น 14.36%
หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม พุ่งขึ้น 7.25% หลังจากนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตาประกาศปลดพนักงานจำนวน 10,000 คนเมื่อวานนี้
หุ้นอูเบอร์ เทคโนโลยีส์ และหุ้นลิฟต์ (Lyft) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเรียกรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน ปรับตัวขึ้น 5% และ 0.6% ตามลำดับ หลังจากศาลรัฐแคลิฟอร์เนียอนุญาตให้ทั้งสองบริษัทปฏิบัติกับผู้ขับขี่รถยนต์ในฐานะผู้ทำสัญญาจ้างอิสระ แทนการปฏิบัติในฐานะพนักงาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 66)
Tags: dowjones, ดาวโจนส์, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก