PwC ชี้การอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual bank) จะเปิดให้มีการแข่งขันจากผู้เล่นหน้าใหม่ที่นำไปสู่การพัฒนาบริการทางการเงินของกลุ่มสถาบันการเงินไทย แนะธนาคารปรับโครงสร้างพื้นฐานองค์กร เพื่อรองรับระบบนิเวศการชำระเงินแบบไร้เงินสด-ศึกษาเกณฑ์ Virtual bank เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล
น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงาน PwC South East Asia Consulting กล่าวว่า เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank โดยคาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ฯ เพื่อเปิดรับสมัครคำขอจัดตั้งได้ในปี 66 และประกาศผลผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.คลังได้ในปี 67 ซึ่งในปัจจุบัน มีธนาคารและกลุ่มผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) หลายรายแสดงความสนใจเป็นอย่างมาก
“วันนี้ผู้บริโภคหันมายอมรับ และปรับตัวกับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และใช้บริการหลายอย่างผ่านแอปพลิเคชันกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินด้วยมือถือ การสแกน QR code หรือจ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ดังนั้น การมี Virtual Bank จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคดิจิทัลได้ตรงจุด และครบวงจรมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวกระตุ้นให้แบงก์พาณิชย์แบบดั้งเดิม ต้องปรับตัวให้ทันด้วย”
น.ส.วิไลพร ระบุ
ทั้งนี้ Virtual Bank ถือเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นแล้ว โดยธนาคารกลางของหลายประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้ออกใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ นวัตกรรรมทางการเงินใหม่ ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว (Internet-only) โดยไม่ต้องมีสาขาของธนาคาร ตู้ ATM และเครื่องรับฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (CDM) จะช่วยตอบโจทย์ภูมิทัศน์ใหม่ของไทย ที่มีเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น
ในระยะต่อไป จะยิ่งเห็นความคึกคักของการเข้ามาของธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน การจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และการให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลของแบงก์พาณิชย์เพื่อขอใบอนุญาต Virtual Bank โดยตัวอย่างของแบงก์ไร้สาขาในเอเชียที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก คือ KakaoBank ของประเทศเกาหลีใต้ ที่นำ Virtual Bank มาต่อยอดธุรกิจ chat platform ของตนโดยให้บริการทางการเงินผ่านมือถือตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชี เปิดบัตรเดบิต ฝาก-ถอนเงิน โอนเงินไปต่างประเทศ ขอสินเชื่อ ออมเงิน และบริการอื่น ๆ ซึ่งดึงดูดผู้ใช้งานจำนวนมาก
น.ส.วิไลพร กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงินของโลก กำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังได้รับผลกระทบจากดิจิทัลดิสรัปชัน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคสู่ดิจิทัลให้รวดเร็วขึ้น 3-5 ปี นำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วของบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และกลายเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในครั้งนี้
สอดคล้องกับรายงาน “Payments 2025 & beyond” ของ PwC ที่คาดการณ์ว่าปริมาณการชำระเงินแบบไร้เงินสดทั่วโลก (Global cashless transaction) จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 80% จากปี 2563 ถึงปี 2568 หรือจาก 1 ล้านล้านธุรกรรม เป็นเกือบ 1.9 ล้านล้านธุรกรรม และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าภายในปี 2573
ทั้งนี้ ปริมาณการทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก โดยเพิ่มขึ้นถึง 109% ระหว่างช่วงปี 2563 ถึงปี 2568 และเพิ่มขึ้นอีก 76% จากปี 2568 ถึงปี 2573 ตามมาด้วยแอฟริกา (78%, 64%) ยุโรป (64%, 39%) ลาตินอเมริกา (52%, 48%) และอเมริกาเหนือ (43%, 35%) ตามลำดับ
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากการขับเคลื่อนรูปแบบทางธุรกิจและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ของหลาย ๆ ประเทศ เช่น ในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้พัฒนาซูเปอร์แอปอย่าง Alipay และ WeChat Pay ให้เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
น.ส.วิไลพร กล่าวว่า ผู้เล่นหลักในตลาดการชำระเงินแบบไร้เงินสดในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ จะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ประกอบไปด้วย 1.กลุ่มธนาคาร 2.กลุ่มแพลตฟอร์มการชำระเงิน ซึ่งให้บริการเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P platform) เช่น PayPal, PromptPay, Venmo 3.กลุ่มผู้ให้บริการบัตรเครดิต 4.กลุ่มผู้ให้บริการชำระเงินผ่านมือถือ (เช่น Apple Pay, Ali Pay และ Amazon Pay) และ 5.กลุ่มอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน ก็จะเห็นการเติบโตของกลุ่มผู้ให้บริการที่เป็นนอนแบงก์ และกลุ่มผู้ให้บริการ P2P
สำหรับแนวโน้มการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่ในตลาดบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จะทวีความรุนแรงตามการขยายตัวของตลาด หลังผู้เล่นที่เป็นนอนแบงก์เข้ามานำเสนอนวัตกรรรมทางการเงินแบบไร้สาขาเพิ่มมากขึ้น และจะขึ้นอยู่กับตัวเลือกในการชำระเงิน ซึ่งประกอบไปด้วย การจ่ายเงินสด การจ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต การจ่ายผ่านแพลตฟอร์ม P2P หรือการจ่ายผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital wallet) เป็นต้น
โดยรูปแบบทางธุรกิจ และขอบเขตการให้บริการในการจัดตั้ง Virtual Bank ในอนาคตจะมีหลากหลายลักษณะ (เช่น เงินฝาก เงินกู้ ลงทุน และการชำระเงิน) ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการว่าต้องการออกแบบบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างไร ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธนาคารและกลุ่มผู้ให้บริการที่เป็นนอนแบงก์ ควรนำแนวปฏิบัติ 5 ข้อที่สำคัญไปพิจารณาควบคู่กับการให้บริการ ดังต่อไปนี้
1. ปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี
2. ส่งเสริมศักยภาพของนวัตกรรม
3. นำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า
4. ลดต้นทุนในการดำเนินงาน
5. ใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
“การมีธนาคารไร้สาขา จะยิ่งช่วยตอบสนองความต้องการบริการทางการเงินที่ครอบคลุมและทั่วถึงขึ้น นอกเหนือไปจากนวัตกรรมและความร่วมมืออื่น ๆ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มทางการเงิน อย่างกระเป๋าเงิน และสกุลเงินดิจิทัล แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ให้บริการจะมองข้ามไม่ได้ คือ การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ปัญหาระบบล่ม และต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เพื่ออุดช่วงโหว่อาชญากรรมทางไซเบอร์รูปแบบใหม่ ๆ ที่ย่อมจะเกิดมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ตามปริมาณธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น”
น.ส.วิไลพร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 66)
Tags: PwC, Virtual bank, ธนาคาร, ธนาคารไร้สาขา, วิไลพร ทวีลาภพันทอง, สถาบันการเงิน, หุ้นไทย