ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (13 มี.ค.) โดยหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากการนักลงทุนวิตกกังวลว่า การล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,819.14 จุด ลดลง 90.50 จุด หรือ -0.28%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,855.76 จุด ลดลง 5.83 จุด หรือ -0.15% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,188.84 จุด เพิ่มขึ้น 49.96 จุด หรือ +0.45%
รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของ SVB เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากราคาหุ้น SVB ทรุดตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลว่า SVB อาจต้องเพิ่มทุนจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดย SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว เนื่องจากราคาพันธบัตรปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด ขณะที่ธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญของ SVB นั้น ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง และได้แห่ถอนเงินฝากจาก SVB
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังสหรัฐและเฟดพร้อมใจกันออกมาตรการกู้วิกฤตเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ SVB และธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ซึ่งถูกสั่งปิดกิจการด้วยนั้น สามารถเข้าถึงเงินฝากได้เต็มจำนวนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มี.ค.เป็นต้นไป ขณะที่เฟดประกาศจัดตั้งโครงการ “Bank Term Funding Program” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินจากผลกระทบของการล้มละลายของ SVB
นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 50% ต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ หลังการล่มสลายของ SVB ซึ่งถือเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของภาคธนาคารสหรัฐนับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์สล้มละลายในปี 2551 โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 54.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. หลังจากที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนไม่เคยให้น้ำหนักต่อการคาดการณ์ดังกล่าว
หุ้นธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ทรุดตัวลง 61.83% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการล่มสลายของ SVB จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร โดยลุกลามไปยังธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ รวมถึง FRB แม้ว่า FRB มีการดำเนินนโยบายแตกต่างจาก SVB ซึ่งเป็นธนาคารที่เน้นการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยี
ส่วนหุ้นธนาคารรายอื่น ๆ ดิ่งลงอย่างหนักเช่นกัน โดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 3.71% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ดิ่งลง 7.13% หุ้นเจพีมอร์แกน ร่วงลง 1.8% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ร่วงลง 2.32%
อย่างไรก็ดี นักลงทุนเข้าซื้อหุ้น Defensive ซึ่งเป็นหุ้นที่ปลอดภัยและสามารถต้านทานวัฎจักรทางเศรษฐกิจได้ดี เช่นหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยหุ้นดุ๊ค เอนเนอร์จี ดีดขึ้น 1.44% หุ้นพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล บวก 0.71% หุ้นคิมเบอร์ลีย์-คล้าค เพิ่มขึ้น 0.61%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้นและเป็นปัจจัยหนุนดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก โดยหุ้นอัลฟาเบท ดีดขึ้น 0.53% หุ้นแอปเปิ้ล พุ่งขึ้น 1.33% หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ ปรับตัวขึ้น 0.77% หุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้น 2.14%
นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนก.พ.ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 6.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 6.2% ในเดือนม.ค. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 5.6% ในเดือนม.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 66)
Tags: dowjones, ดาวโจนส์, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก