นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา ณ คลินิกมลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1-12 มี.ค. 66 ว่า มีประชาชนเข้ามารับบริการ ณ คลินิกมลพิษทางอากาศซึ่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.สิรินธร รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ รวมทั้งสิ้น 148 ราย
โดยในวันที่ 10 มี.ค.66 มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษามากที่สุด 48 ราย อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 10 มี.ค. จำนวนผู้ป่วยลดลงตามลำดับ โดยวานนี้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 8 ราย
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มมาเข้ารับการรักษาสูงสุด รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ตาอักเสบ และหอบหืด ตามลำดับ
สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่จะมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หอบหืดเฉียบพลัน หรือหลายอาการร่วมกัน ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์
โฆษก กทม. กล่าวว่า คลินิกมลพิษทางอากาศ จะคัดกรองอาการ ให้คำแนะนำ และให้การรักษา รวมถึงการซักประวัติเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและให้ข้อแนะนำในการปรับพฤติกรรมต่างๆ ให้เหมาะสม ซึ่งประชาชนสามารถคัดกรองประเมินอาการตนเองในเบื้องต้น และหากมีอาการรุนแรงสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันที ตามสิทธิการรักษาพยาบาล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 66)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่นพิษ, มลพิษทางอากาศ, เอกวรัญญู อัมระปาล