บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ระบุถึงเหตุการณ์ปิด Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ
ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2022 ที่ผ่านมา ราคาพันธบัตรระยะยาวที่ธนาคารถือปรับตัวลงอย่างรุนแรง ขณะที่ลูกค้าของ SVB ซึ่งเริ่มระดมทุนได้ยากขึ้นและทยอยถอนเงินไปพยุงกิจการ ทำให้ SVB ถูกบังคับขายพันธบัตรในราคาขาดทุนเพื่อนำเงินมาจ่ายคืนผู้ฝากและรักษาสภาพคล่องไว้ ซึ่งแท้จริงแล้วหากถือพันธบัตรได้จนครบอายุ SVB ก็จะได้เงินคืนครบเต็มจำนวน อีกทั้งธนาคารยังไม่พบการผิดนัดชำระหนี้จากการปล่อยสินเชื่อของ SVB เองและถือเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีหนี้เสีย (NPLs) อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
นักลงทุนในตลาดต่างตื่นตระหนกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจลุกลามไปเป็นเหมือนวิกฤต Lehman Brothers ในปี 2551 แต่หากพิจารณาการดำเนินธุรกิจแล้ว SVB ถือเป็นธนาคารที่ระมัดระวังการลงทุนค่อนข้างมาก โดยสินทรัพย์ที่นำเงินฝากไปลงทุนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มตราสารหนี้ พันธบัตร และตราสารที่มีสินทรัพย์ค่ำประกัน (mortgage-backed securities) ซึ่งแตกต่างจาก Lehman Brothers ที่นำเงินไปปล่อยกู้ให้กับสินเชื่อบ้านคุณภาพต่ำ (Subprime Mortgage) เกินตัว จนนำมาสู่การล้มละลายจากปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ไม่ดี ซึ่งล่าสุด จากการที่ทางการออกมาตรการเข้าช่วยเหลือทันที อาจเรียกได้ว่าเหตุการณ์นี้ได้ปิดประตูผลกระทบที่จะเป็น Domino Effect ไปแล้วทันที
เรามองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการบริหารสภาพคล่องที่ผิดพลาดเฉพาะตัวของบริษัท และจะไม่นำไปสู่ Domino Effect เหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2551 ประกอบกับท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯที่พร้อมเข้าดูแลความเชื่อมั่นในทันที โดยล่าสุดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ, ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ Federal Deposit Insurance Corp. ร่วมกันแถลงถึงมาตรการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบธนาคาร และเสริมสร้างสภาพคล่องให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวอาจสร้างความกังวลให้กับตลาดหุ้นได้บ้างในระยะสั้นได้บ้าง แต่มองเป็นโอกาสเข้าลงทุนในระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 66)
Tags: Silicon Valley Bank, SVB, ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์, อีสท์สปริง