หยวนต้า มองสหรัฐแก้วิกฤติ SVB ไว-ตรงจุดหนุนเชื่อมั่นฟื้น เชื่อผลกระทบแบงก์ไทยจำกัด

บล.หยวนต้า วิเคราะห์ผลกระทบที่จะมีต่อภาคธนาคารและสถาบันการเงินของไทย ภายหลัง Silicon Valley Bank (SVB) ของสหรัฐฯ ถูกปิดจากปัญหาสภาพคล่อง โดยนายภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ระบุว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะเห็นถึงความร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนในการออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นจากกระทรวงการคลังสหรัฐ และธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งได้มีมาตรการเรียกความเชื่อมั่น และคุ้มครองเงินฝากให้กับลูกค้าของธนาคาร ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาอย่างรวดเร็ว ตรงจุด และช่วยลดความเสี่ยงต่อสถาบันการเงินอื่นที่อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องตามมา โดยเชื่อว่าตลาดจะย่อยข่าวในช่วง 2-3 วันนี้ จากนั้นจะค่อยเห็นทิศทางดีขึ้น

“ล่าสุด กระทรวงคลังสหรัฐและเฟด การันตีว่าทุกคนเข้าถึงเงินได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ช่วยจำกัดความเสี่ยงของสภาพคล่องคนที่ฝากเงิน และทำให้คนจะไปถอนเงินอื่นๆ ลดลง ผลกระทบไม่ลาม แค่ถูกโยกย้ายจากแบงก์กลาง-เล็ก ไปแบงก์ใหญ่…มาตรการที่ออกมาพุ่งเป้า แก้ปัญหาตรงจุด อาจต้องรอผลประชุมเฟดดึกๆ คืนนี้ว่าจะพูดคุยมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่”

นายภาดล กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าผลกระทบที่จะมาถึงธนาคารพาณิชย์ของไทยค่อนข้างมีจำกัด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีความเสี่ยงเหมือนอย่างธนาคารของสหรัฐ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ของไทยมีสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ หรือพันธบัตรต่าง ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล เพียงไม่เกิน 14% ของสินทรัพย์รวม ในขณะที่ SVB มีสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้สูงถึง 55% ของสินทรัพย์รวม

“ถ้าดูมิติเดียวกัน ผลกระทบไทยกับสหรัฐ เทียบกับไม่ได้ ทั้งเรื่องสาเหตุ และการประเมินผลกระทบ หากให้ประเมินแบบ worst case กับตราสารที่ถืออยู่ตอนนี้ ตลาดตราสารหนี้บ้านเรา ความผันผวนน้อยมาก ต่อให้ขาย ก็กระทบกำไรแค่ 7% ไม่ได้กินฐานทุน จนทำให้ทุกอย่างต่ำกว่าเกณฑ์แบงก์ชาติ แต่ฝั่งนู้นที่เจ๊ง เพราะ VC (Venture Capital) แห่มาถอนเงิน แต่บ้านเราฐานลูกค้า VC น้อย ถึงแห่ถอนเงิน ก็ไม่ได้ทำให้ต้องขายตราสารออกมา ดังนั้นปัจจัยจึงต่างกัน”

นายภาดล กล่าว

พร้อมย้ำว่า ธนาคาร SVB ที่มีปัญหา เพราะเป็นแบงก์ที่มีความเฉพาะตัว ฐานลูกค้าเงินฝากที่เกิน 250,000 เหรียญสหรัฐของ SVB สูงเกิน 90% ทำให้เงินฝากกระจุกตัว โดยลูกค้าไม่กี่ราย และเงินกู้ก็กระจุกตัวในลูกค้าไม่กี่รายเช่นกัน ดังนั้นไม่เหมือนแบงก์อื่นๆ ขณะที่ธนาคารของไทยเป็นเศรษฐกิจแบบโบราณ ไม่มีฐานลูกค้าสตาร์ทอัพมาก เพราะเวลาสตาร์ทอัพลงทุนจะใช้การระดมทุนผ่านตลาดทุนเป็นหลัก ไม่ได้เป็นสินเชื่อ (Loan) และเราไม่มี VC ใหญ่ๆ ที่จะมาฝากเงินกับแบงก์ของเราสัดส่วนน้อยมากๆ ความโบราณของเรา จะทำให้รอด เพราะรอบนี้เกิดจาก start up crisis ของฝั่งสหรัฐ

พร้อมกับเชื่อว่าเหตุการณ์ที่ธนาคาร SVB ถูกสั่งปิดนี้ จะไม่ลุกลามบานปลายจนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเหมือนเช่นกรณีของวิกฤติ Subprime ในสหรัฐเมื่อปี 2008 ซึ่งวิกฤติในรอบนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อกู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่หละหลวมเกินไป ร่วมกับการที่ธนาคารนำสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาขายใหักับนักลงทุน หรือเรียกว่าการทำ Mortgage Backed Securities (MBS)

จากนั้น ธนาคารได้นำ MBS ที่ดีและไม่ดี มารวมกันเป็น Collateral Debt Obligation (CDO) เพื่อขายให้นักลงทุนอีกที และเมื่อผู้กู้ เริ่มไม่สามารถชำระหนี้อสังหาฯ ได้ ผลกระทบจึงเกิดขึ้นในลักษะ Domino Effect ที่กระทบในวงกว้างไปสู่ธนาคาร นักลงทุนใน CDO และตลาดอสังหาฯ

ในขณะที่กรณีเหตุการณ์ที่ธนาคาร SVB ถูกสั่งปิดนั้น เป็นปัญหาเนื่องจากธนาคารนำเงินฝากจำนวนมากไปลงทุนในตราสารหนี้ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ หลังจากนั้นเฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปค่อนข้างมาก ส่งผลให้ราคาพันธบัตรปรับตัวลง ซึ่งเมื่อผู้ฝากเงินทำการถอนเงินออกไปจำนวนมาก จึงส่งผลให้ SVB จำเป็นต้องขายตราสารหนี้ออกมาในราคาต่ำ และรับรู้ผลขาดทุนจำนวนมาก ประกอบกับสัดส่วนเงินฝากของ SVB ส่วนใหญ่กระจุกตัวในกลุ่ม VC ดังนั้นเมื่อ VC ถอนเงินสดออก จึงส่งผลให้ SVB เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top