นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ (GFC) เปิดเผยว่า บริษัทยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 27.27% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขาย IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดธุรกิจบริการ โดยมี บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ GFC ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากแบบครบวงจรรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้บริการหรับผู้มีบุตรยาก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
วัตถุประสงค์ในการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ที่ใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการขยายสาขาใหม่ที่สุวรรณภูมิ-พระราม 9 ตลอดจนการลงทุนในสาขาย่อยอื่น ๆ ตามพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพและมีฐานลูกค้าผู้มีบุตรยากในอนาคต เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้มีบุตรยากที่จะเข้ามารับบริการรักษากับกลุ่มบริษัท ทั้งกลุ่มผู้มีบุตรยากชาวไทยและที่เป็นชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ คลินิกสาขาใหม่ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อเพิ่มจำนวนนักเทคนิคการแพทย์ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัท ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก นอกจากนี้ยังนำไปใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการหาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของกลุ่ม GFC
ปัจจุบัน GFC มีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 160 ล้านหุ้น มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ ภายใต้การดำเนินธุรกิจผ่าน 2 บริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.99% ได้แก่ 1). บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด (GSM) ดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing: NGS ) โดยบริษัทดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการย้ายที่ตั้งสำนักงานไปอยู่ที่คลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับปรุงอาคาร เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการ และขยายพื้นที่การให้บริการมากขึ้น
ทั้งนี้ การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing: NGS) จะสามารถให้บริการได้ตามปกติภายใต้ GFC แทน และ 2). บริษัท จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด (GFCFG) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) จัดตั้งขึ้น เพื่อลงทุนในกิจการอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1). การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2). การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (Intrauterine insemination) 3). การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) 4). การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing: NGS) และ 5) การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ สำหรับลูกค้าของกลุ่มบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าผู้ที่วางแผนการมีบุตรในอนาคต, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยที่สนใจอยากมีบุตร, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยกับชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร และกลุ่มลูกค้าคู่สมรสชาวต่างชาติ ที่สนใจอยากมีบุตร
นายกรพัส กล่าวว่า GFC ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ดีที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และยึดมั่นในหลักจริยธรรม และด้วยศักยภาพจุดแข็งทางธุรกิจ ยิ่งแสดงถึงความสำเร็จของ GFC ที่จะก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากรายแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย
จากความทุ่มเทในการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจใน 3 ปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 62-64 และงวด 9 เดือนปี 65 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการเท่ากับ 240.97 ล้านบาท 214.43 ล้านบาท 242.12 ล้านบาท และ 198.39 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก ด้วยวิธี ICSI เป็นรายได้หลัก ขณะที่กำไรสุทธิเท่ากับ 81.94 ล้านบาท 66.55 ล้านบาท 69.63 ล้านบาท และ 48.46 ล้านบาท ตามลำดับ
“ปี 63 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการลดลง เนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดทำให้ภาครัฐออกมาตรการ Lockdown และภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ส่งผลให้ผู้มีบุตรยากตัดสินใจชะลอการมีบุตร แต่หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว ทำให้ผู้มีบุตรยากเริ่มตัดสินใจมีบุตรอีกครั้ง ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีจำนวนคนไข้เข้ามารับบริการรักษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่กลับมาในช่วงปี 564 ต่อเนื่องจนถึงงวดเก้าเดือนปี 65”
นายกรพัส กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2560 ถึงพ.ศ. 2569) ของภาครัฐบาล โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา 4 ผลผลิตหลัก ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) จะยิ่งส่งผลกระทบเชิงบวกและเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของกลุ่ม GFC จากการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากรวมถึงชาวต่างชาติในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 66)
Tags: GFC, กรพัส อัจฉริยมานีกูล, หุ้นไทย, เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์