มณฑลกุ้ยโจวของจีนเผยโครงการสะพานผิงถัง (Pingtang Bridge) ได้รับรางวัลโครงสร้างพื้นฐานยอดเยี่ยม ในงานมอบรางวัลสิ่งก่อสร้างดีเด่น ประจำปี 2565 ซึ่งจัดโดยสมาคมสะพานและวิศวกรรมโครงสร้างนานาชาติ (IABSE) ตอกย้ำบทบาทของกุ้ยโจวในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง ตลอดจนความเชี่ยวชาญและระบบสาธารณูปโภคที่เพียบพร้อมจนกุ้ยโจวได้รับการขนานนามว่าเป็น”พิพิธภัณฑ์สะพาน”
ปัจจุบัน มณฑลกุ้ยโจวซึ่งถือเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้สร้างสะพานเกือบ 30,000 แห่ง ซึ่งรวมถึงสะพานที่กำลังก่อสร้าง และสะพานทางด่วนอีกกว่า 2,000 แห่งที่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ สะพานในกุ้ยโจวนั้นมีทั้งสะพานแขวน สะพานขึง สะพานโค้ง และสะพานคาน ซึ่งครอบคลุมสะพานเกือบทุกประเภทในโลก อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสะพานขนาดใหญ่ 5 แห่งที่ข้ามภูเขาและหุบเขา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สะพานผิงถังในมณฑลกุ้ยโจวได้รับรางวัลอันทรงเกียรติระดับนานาชาติ เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้รับรางวัลสะพานระดับโลกมาแล้วหลายรางวัล หนึ่งในนั้นคือรางวัลเหรียญกุสตาฟ ลินเดนธัล (Gustav Lindenthal Medal) ซึ่งเปรียบเสมือน “รางวัลโนเบล” ในแวดวงวิศวกรรมศาสตร์
หยาง เจียน หัวหน้าวิศวกรของบริษัท กุ้ยโจว ทรานสปอร์ตเทชัน แพลนนิง เซอร์เวย์ แอนด์ ดีไซน์ อคาเดมี จำกัด ซึ่งรับหน้าที่ในการก่อสร้างสะพานดังกล่าว กล่าวว่า ทุกครั้งที่ผมเห็นสะพานของเรา ผมรู้สึกดีใจเหมือนได้เห็นลูกของตัวเอง” ปัจจุบัน สะพานกุ้ยโจวได้กลายเป็นต้นแบบของการสร้างสะพาน ซึ่งเป็นการตอกย้ำบทบาทของกุ้ยโจวในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่ขาดไม่ได้ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ นอกจากนั้นยัง ช่วยให้กุ้ยโจวก้าวสู่สากลตามข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) รวมทั้งส่งเสริมแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในยุคใหม่ และแนวคิดที่ว่า “การสร้างถนนหนทางเป็นก้าวแรกสู่ความเจริญรุ่งเรือง
ในอดีต สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในกุ้ยโจวซึ่งมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขานั้นมีไม่เพียงพอ ทำให้ประชาชนเดินทางลำบาก หลายทศวรรษที่ผ่านมา กุ้ยโจวได้เรียนรู้การสร้างสะพานและพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโครงการสะพานที่ทันสมัยของต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเยอรมนี
ทั้งนี้ การสร้างสะพานของกุ้ยโจวยังคำนึงถึงแนวคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการออกแบบและเทคนิคการก่อสร้างสะพาน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้กุ้ยโจวได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เช่น โครงการสะพานหัวอวี้ตง (Huayudong Bridge) ซึ่งทีมงานของหยาง เจียน ได้เสนอวิธีการรื้อสะพานเก่า เพื่อหลีกเลี่ยงมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและความเสียหายทางระบบนิเวศที่เกิดจากการระเบิดสะพาน และยังรีไซเคิลสะพานเก่าอีกด้วย และสะพานที่สร้างใหม่ได้กลายเป็นสะพาน “ทรงหูหิ้วตะกร้า” แห่งแรกของกุ้ยโจว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มี.ค. 66)
Tags: กุ้ยโจว, จีน