นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 10 วงเงิน 50,000 ล้านบาทไปแล้วนั้น ขณะนี้ บสย. ได้เร่งเพื่อเปิดรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ โดยแจ้งไปยังสถาบันการเงินที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดบริการในระยะแรกช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 นี้เป็นต้นไป
สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เป็นโครงการนวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ ที่ บสย. พัฒนาขึ้น โดยจัดสรรวงเงินระยะแรกที่ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อครอบคลุม ผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มเป้าหมาย (Segmentation) ประกอบด้วย 6 โครงการย่อย ดังนี้
1.สตาร์ท อัพ (Start up) สำหรับนักศึกษาจบใหม่ อาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการ SMEs หน้าใหม่ที่ต้องการเงินทุนสำหรับเริ่มต้นกิจการใหม่ ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก ปีถัดไปจ่ายคนละครึ่ง ตลอดอายุการค้ำประกัน วงเงินค้ำประกันระยะแรก 1,000 ล้านบาท
2. สมอลล์ บิซ (Small Biz) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ขาย ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 200,000 บาทรวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 3,000 ล้านบาท
3.สมาร์ท วัน (Smart One) สำหรับผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่ต้องการเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์ Covid-19 ได้แก่ SMEs ขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 200,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 10,000 ล้านบาท
4.สมาร์ท บิซ (Smart Biz) สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคล ที่ต้องการยกระดับเสริมสภาพคล่องการดำเนินธุรกิจ หรือขยายธุรกิจรองรับการเติบโต ได้แก่ SMEs ขนาดเล็ก ขนาดกลาง วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 200,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.25% ต่อปี ฟรี 3 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 15,000 ล้านบาท
5.สมาร์ท กรีน (Smart Green) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเงินทุนสำหรับการปรับปรุงพัฒนา เสริมศักยภาพธุรกิจ สู่ ESG รองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และ BCG เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.5% ต่อปี ฟรี 4 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน 500 ล้านบาท
6. สมาร์ท พลัส (Smart Plus) เป็นนวัตกรรมค้ำประกัน ใช้คู่กับโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง เพื่อเพิ่มความคุ้มครองผู้ค้ำประกันสินเชื่อ วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน 500 ล้านบาท
นายสิทธิกร กล่าวว่า โครงการ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) เป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดวันรับคำขอวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนที่จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท รักษาการจ้างงานกว่า 700,000 อัตรา
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs สามารถลงทะเบียน บริการรับคำปรึกษา ตรวจสุขภาพทางการเงินฟรี ผ่านช่องทาง Line TCG First (@tcgfirst)
“โครงการ PGS 10 นี้ ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์ถึง 4 ต่อ คือ ต่อแรก ช่วยลดภาระทางการเงินลงในระยะ 2-3 ปีแรก ต่อที่สอง ค่าธรรมเนียมถูกลงกว่าเดิม ต่อที่สาม ผู้ประกอบการ SME Green จะสามารถเข้าสู่ BCG Model ได้ง่ายขึ้น และต่อที่สี่ ผู้ประกอบการ SME สามารถตรวจสุขภาพการเงินผ่านช่องทาง Line ได้ตลอด 24 ชม.” กรรมการผู้จัดการ บสย. กล่าว
นายสิทธิกร กล่าวด้วยว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – ก.พ. 66) บสย. ได้อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อไปแล้วประมาณ 15,000 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้ายอดค้ำประกันสินเชื่อปีนี้ที่ 120,000 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจที่ค้ำประกันสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1.ภาคบริการ 2.อาหารและเครื่องดื่ม และ 3.ยานยนต์ และเมื่อรวมกับโครงการ PGS 10 ล่าสุดอีก 50,000 ล้านบาท ก็จะเป็นเป้าค้ำประกันสินเชื่อรวมทั้งหมดของปีนี้ 170,000 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มี.ค. 66)
Tags: PGS, SMEs, บสย., สิทธิกร ดิเรกสุนทร, สินเชื่อ