นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และรองประธานกรรมการ บมจ.ช.การช่าง (CK) เปิดเผยถึงกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่ง BEM ชนะการประมูลมาหลายเดือนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติการเซ็นสัญญาว่า บริษัทไม่มีความกังวล เพราะมั่นใจว่าภาครัฐจะเดินหน้าโครงการนี้อย่างแน่นอน
ถึงแม้โครงการนี้อาจจะยังไม่ได้รับอนุมัติภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ก็จะเข้ามาสานต่อ และไม่ว่าจะรัฐบาลไหน บริษัทก็รอได้ เพราะ BEM เข้าประมูลตามกติกาที่ภาครัฐกำหนดออกมาอย่างชัดเจน และปัจจุบันบริษัทยังไม่มีต้นทุนจากโครงการดังกล่าว
“ถ้ารัฐบาลเคาะ เราก็สร้างได้ทันที เงินทุนเรามีพร้อม เราสร้างได้จริง คุณภาพดีจริง เราแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐได้จริง ที่เหลือรอดูถ้ารัฐเดินหน้าเราก็พร้อมทำทันที…ถ้ายืดเยื้อไปรัฐบาลใหม่เราก็จะรอ”บอร์ดบริหาร BEM กล่าว
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีมูลค่าโครงการ 139,127 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ งานโยธา รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก ซึ่ง BEM เสนอขอการสนับสนุนจากภาครัฐ 91,500 ล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) ที่ 81,871 ล้านบาท จากราคากลาง 91,983 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) ที่ 84,756 ล้านบาท ส่วนงานเดินรถ BEM เสนอจ่ายเงินตอบแทนให้รัฐ 10,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) ที่ 3,583 ล้านบาท ขณะที่ราคากลางกำหนดจ่ายเงินตอบแทน 687 ล้านบาท คิดเป็น PV ที่ 501 ล้านบาท
ดังนั้น เมื่อสรุปสุดท้ายจะเป็นตัวเลขสุทธิที่ BEM เสนอขอรัฐจ่ายค่าสนับสนุน 78,288 ล้านบาท ลดลง 7% จากราคากลางที่ 84,255 ล้านบาท
ส่วนข้อกังขาว่า บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดื้งส์ (BTS)และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) สามารถยื่นข้อเสนอให้รัฐสนับสนุนต่ำเพียง 9 พันล้านบาท โดยให้ผลตอบแทนกับภาครัฐสูงถึง 134,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น PV ที่ 70,000 ล้านบาท และรับการสนับสนุนงานโยธา 87,000 ล้านบาท คิดเป็น PV ที่ 79,000 บาทนั้น
นายพงษ์สฤษดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า จะทำได้ตามนั้นจริงหรือไม่ เพราะจากประเมินจำนวนผู้โดยสารเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ใช่ว่าจะสูงมาก หากจะจ่ายค่าตอบแทนเป็นแสนล้านบาทได้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มก็ต้องเป็นหลักล้านคน/วัน ขณะที่ BEM มองว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ได้มีจำนวนผู้โดยสารมากขนาดนั้น เพราะเป็นเส้นทางที่ใช้เดินทางกันมากในช่วงเช้ากับเย็นเท่านั้น เหมือนสายสีม่วง ต่างจากรถไฟฟ้าเส้นสีเขียวใจกลางเมืองที่มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 800,000 คน/วัน รองลงมารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เฉลี่ย 400,000 คน/วัน เพราะระหว่างวันมีการเดินทางค่อนข้างมากด้วย
หลังจาก BEM ชนะการประมูล การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) จึงได้เรียกไปเจรจาต่อรองให้ยืนยันค่าก่อสร้างตามที่ยื่นไป เพราะค่าก่อสร้างที่ รฟม.ประเมินไว้ใช้ข้อมูลปี 60-61 ขณะที่ค่าวัสดุก่อสร้าง เหล็ก ค่าแรงก็ปรับตัวขึ้นมามาก โดยเฉพาะค่าเหล็กสูงขึ้นอีก 4 พันล้านบาท และจำนวนผู้โดยสารที่ประมาณการไว้ระยะแรกจะมี 1 แสนคน/วัน อาจไม่ได้เป็นไปตามเป้า
นอกจากนี้ รฟม.ให้ BEM ตรีงราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม 10 ปี โดยให้ใช้ราคาเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เริ่มต้น 17 บาท จากทีโออาร์ที่ระบุเริ่มต้น 20 บาท รวมถึงไม่มีค่าเดินทางแรกเข้าซ้ำหากเดินทางต่อจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงคาดว่าอาจจะสูญเสียรายได้เป็นหมื่นล้านบาท โดยหลังจากนั้นก็จะปรับขึ้นค่าโดยสารทุก 2 ปีตามดัชนี CPI ตามสัญญา
และอีกเงื่อนไข คือ รฟม.ให้บริษัทรับผิดชอบค่าบำรุงรักษาโครงการประมาณ 50 ล้านบาท/เดือน ทั้งนี้ BEM ก็ยอมรับตามที่ รฟม.ต่อรองไว้ทั้งหมด
“เราเชื่อมั่นตัวเรา เราเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้รัฐ ทุกโครงการที่ช.การช่างทำรัฐบาล ไม่เคยโดนปรับหรือล่าช้า เปิดทุกอย่างตรงตามเวลา เร็วกว่าเป้าหมายก็มี รัฐกำหนดกติกา เราแข่งขันตามกติกาเราชนะ เราก็ offer เรื่องค่าโดยสาร การดูแลบำรุงรักษา และการที่มีคนบอกว่า ทีโออาร์เอื้อเรา ไม่ใช่ มันมีการแข่งขันตามกติกา ผลประโยชน์ที่ให้รัฐเราอธิบายได้ ถ้ามีคนชนะเรา ผมน้อมรับนะ แต่มีคนบอกว่ามีคนเสนอ 9,000 ล้าน ถ้าใครเชื่อก็แล้วแต่” นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าว
นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวว่า หากมีการลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คาดว่าจะเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออกก่อนในปี 69 หรือภายใน 3 ปี จากสถานีสุวินทวงศ์-สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และอีก 3 ปีต่อมาหรือในปี 72 จะเปิดเดินรถฝั่งตะวันตก จากสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ-สถานีบางขุนนนท์ คาดใช้เวลาก่อสร้างฝั่งตะวันตกที่เป็นงานใต้ดินทั้งหมด 6 ปี
นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวยังว่า BEM ไม่ได้กังวลกับการฟ้องคดีสำหรับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 1 ซึ่งยังรอคำพิพากษาอยู่ มองว่าเป็นเรื่องปกติที่เจ้าของโครงการจะยกเลิกการประมูลได้ เพราะหากคืนซองประมูลและจ่ายเงินคืนก็จบแล้ว โดยที่ผ่านมาการประมูลของ CK ก็พบเหตุการล้มประมูลแล้วมาประมูลใหม่อยู่หลายโครงการ ดังนั้นมองว่าการประมูลรอบแรกจบไปแล้ว ศาลจะพิพากษาเป็นอย่างไรก็ไม่น่าจะกระทบกับบริษัท
อนึ่ง คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
1. คดีที่บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ฟ้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้อง
2. คดียกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำพิพากษศาลปกครองสูงสุด
3.คดีที่บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTSC) ฟ้องศาลปกครองกลางประเด็นการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC ซึ่งการขอทุเลาครั้งที่ 1 ศาลฯยกคำร้อง และการขอทุเลาครั้งที่ 2 ศาลไม่รับคำร้อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 66)
Tags: BEM, CK, ช.การช่าง, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, ประมูล, พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล, รถไฟฟ้าสายสีส้ม, รัฐบาล, หุ้นไทย