FORTH จ่อออก “ตู้ขายก๋วยเตี๋ยวอัตโนมัติ” ต่อยอดตู้เต่าบิน พัฒนาเสร็จพร้อมให้บริการใน 2 ปี

นายชัชวิน พิพัฒน์โชติธรรม ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) เปิดเผยว่า บริษัทยังมีแผนผลิตตู้ขายก๋วยเตี๋ยวอัตโนมัติ เนื่องจากมองโอกาสทางธุรกิจนี้น่าจะไปได้หลังจากประสบความสำเร็จจากตู้เต่าบิน โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา (R&D) คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ได้ไม่ถึง 2 ปีก็จะพร้อมให้บริการ เพราะมีความเชี่ยวชาญการผลิตตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติมาแล้ว

สำหรับแผนงานในปี 66 นี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีรายได้ 9,754.43 ล้านบาท เป็นไปตามการขยายตัวของ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่

ธุรกิจรับจ้างผลิตแผงวงจรอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EMS) ภายใต้ บมจ.ฟอร์ท อีเอ็มเอส (FEMS) คาดมีรายได้เติบโตมาที่ 5,550 ล้านบาท จากปีก่อนทำรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท หลังได้รับคำสั่งผลิต (ออเดอร์) จากลูกค้ารายเดิม ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่เข้ามาเพิ่มขึ้นเกือบ 10% เมื่อเทียบ รวมถึงการประกอบตู้เต่าบินก็จะเพิ่มขึ้นด้วยตามแผนขยายการติดตั้งตู้ อีกทั้งบริษัทยังได้ออเดอร์จากลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา ทั้งการผลิตกล่องเก็บความเย็น ตัวขยายสัญญาณ 5G และ ตู้บดกาแฟ มูลค่ารวมกว่า 12-15 ล้านเหรียญสหรัฐ

ธุรกิจ Enterprise Solutions ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) เหลืออยู่ 1,634 ล้านบาท แบ่งเป็น งานติดตั้งอุปกรณ์ DWDM ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่ารวม 465 ล้านบาท, งานกำไลข้อเท้าติดตามตัว (EM) เฟส 2 ของกรมคุมประพฤติ มูลค่า 782 ล้านบาท, งานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อีกราว 150 ล้านบาท, งานต่อเนื่องโครงการสมาร์ทกริดของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่า 103 ล้านบาท และงานระบบสื่อสารวิทยุเฉพาะกิจระบบดิจิทัล (Digital Trunked Radio System) ของกรมการปกครอง มูลค่า 134 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า Backlog ที่เหลืออยู่จะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาในปีนี้ราว 80-90% และที่เหลือเป็นปี 67

ขณะที่บริษัทยังอยู่ระหว่างติดตามงานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้น 16 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 6,887 ล้านบาท คาดหวังว่าจะทยอยได้รับงานเข้ามาในปีนี้และปีหน้า

ด้านธุรกิจ Smart services ภายใต้ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ปีนี้ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง แม้ธุรกิจเติมเงินผ่านตู้บุญเติม ยอดเติมเงินอาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากกลุ่มลูกค้าเดิมได้ย้ายไปสู่บริการผ่าน Mobile เกือบหมดแล้ว ทำให้ขณะนี้เหลือเพียงกลุ่มคนที่ยังชื่นชอบการเติมเงินผ่านตู้ หรือยังไม่มีความเชื่อใจใน Mobile ขณะที่การโอนเงินผ่านตู้ก็ยังมีอยู่จากยังมีลูกค้าบางรายที่ยังเข้าไปถึงเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม ทาง FSMRT ก็จะไปมุ่งเน้นบริการผ่อนชำระ และปล่อยเงินกู้มากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งจะปล่อยในลักษณะของเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบผ่อน ตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อเบื้องต้นในรปีนี้ราว 1,000 ล้านบาท

สำหรับการติดตั้งตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “กิ้งก่า EV” ก็จะเข้ามาเป็นไฮไลท์ของธุรกิจในปีนี้ โดยมีเป้าหมายติดตั้งจุดชาร์จปีนี้ที่ 5,000 จุด ผ่านการร่วมลงทุนกับเจ้าของพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งจะผลิตเชิงพาณิชย์และติดตั้งได้ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.66

ขณะที่ตู้เต่าบิน ในปีนี้ตั้งเป้าติดตั้งเพิ่มอีก 5,000 ตู้ เป็น 10,000 ตู้ จากปีก่อนอยู่ที่ 4,942 ตู้ และจะมีการออกสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังได้วางงบลงทุนด้านการตลาดราว 100 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งจะหนุนให้ผลประกอบการของตู้เต่าบินเติบโตขึ้น จากปีก่อนมียอดขายอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 261 ล้านบาท

และหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว บริษัทจะเดินหน้าแผนงานนำตู้เต่าบินขยายไปยังต่างประเทศภายใต้โมเดลที่บริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วน 10% ร่วมกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้นๆ โดยคาดจะเห็นตู้เต่าบินในต่างประเทศตู้แรกที่สิงคโปร์และมาเลเซียภายในไตรมาส 2/66 ก่อนที่จะขยายไปยังอินโดนีเซียในไตรมาส 3/66

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top