ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.66 อยู่ที่ระดับ 52.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเริ่มประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 63
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 46.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 46.0 ในเดือนม.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 49.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.0 ในเดือนม.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 61.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 60.2 ในเดือนม.ค.
“ดัชนีฯ โดยรวมดีขึ้นทุกตัว และสูงสุดในรอบ 36 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.63” นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ
สำหรับปัจจัยบวกสำคัญ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 66 ที่ภาครัฐมีให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น ช้อปดีมีคืน, มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น, ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับดีขึ้น, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเริ่มปรับตัวลดลง, เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย
ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ปี 65 ขยายตัวได้เพียง 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ 3.2%, การส่งออกของไทยในเดือนม.ค.66 ลดลง 4.5% และความกังวลต่อสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูง ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า
“ภาพรวมเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นต่อเนื่อง จากยอดการขายรถยนต์ส่วนบุคคล และมอเตอร์ไซค์ รวมทั้งยอดการใช้ไฟฟ้าและการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 ทุกรายการ และไม่ใกล้เคียง 100 เลย ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตอยู่ที่ประมาณ 60 หมายความว่าผู้บริโภคยังห่วงภาพเศรษฐกิจโดยรวม แต่สถานการณ์ในอนาคตมีความหวังว่าจะดีขึ้น แต่ภาพปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่ดีโดดเด่น” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า โดยรวมเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบ K-Shape ทั้งนี้ ในเดือนก.พ. ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ไม่ทะยานขึ้นแบบโดดเด่น ซึ่งจากการสำรวจพบสาเหตุว่ามาจาก 3 ปัจจัย คือ
1. ภาวะเศรษฐกิจนิ่ง หลังจากที่ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราติดลบตลอดไตรมาส 4/65 ซึ่งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.4% และทั้งปีขยายตัวเพียง 2.6%
2. เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาและอุปสรรคมากขึ้น หลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปี 66 จะขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ เดิมที่ 3-4% เป็น 2.7-3.7% จากปัญหาอัตราดอกเบี้ยสูง และค่าเงินบาทที่ผันผวน ประกอบกับต้นทุนพลังงานที่สูง ขณะเดียวกัน สภาพัฒน์ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีการคาดการณ์การส่งออกว่า ปี 66 อาจมีสัญญาณของการติดลบได้
3. ผู้บริโภคมองว่าต้นทุนค่าครองชีพยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะจากราคาพลังงาน
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้ง ต้องจับตาสัญญาณการเลือกตั้งในเดือนเม.ย.-พ.ค. ว่าจะมีเม็ดเงินเท่าไร ความเชื่อมั่นจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งบรรยากาศในเดือนเม.ย. จะทำให้หอการค้าไทยมีการปรับประมาณการตัวเลขใหม่ในเดือนพ.ค. อีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้ก็เริ่มมีสัญญาณของเศรษฐกิจที่ดูแผ่วลง
นอกจากนี้ ต้องจับตาดูว่าบรรยากาศของการท่องเที่ยว ว่าจะกลับมาและมีน้ำหนักพอชดเชยการส่งออกที่หดตัวหรือไม่ ขณะเดียวกัน ต้องดูราคาพืชผลทางการเกษตร และมาตรการของรัฐ ทั้งบัตรสวัสดิการของรัฐ และเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะเห็นผลในช่วงไตรมาส 2/66 ขณะที่บรรยากาศเศรษฐกิจโลกก็น่าจะชัดในไตรมาส 2/66 เช่นกัน
“หอการค้าไทย มองเศรษฐกิจไทยโต 3-4% และยังมีโอกาสโตในกรอบ 3.5% บวกลบ ยังไม่เปลี่ยนมุมมอง แต่สัญญาณที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น จากโอกาสที่เศรษฐกิจโลกขึ้นดอกเบี้ย และอาจชะลอตัวลงต่อนานกว่าเดิม ส่วนเศรษฐกิจไทยก็รอดูว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นดึงส่งออกให้ภาคเศรษฐกิจฟื้นในไตรมาส 2/66 ได้หรือไม่ ซึ่งก็ยังโชคดีที่ราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าไม่แพง และรอดูรัฐบาลชุดใหม่ในเดือนส.ค. ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งหมดด้วย” นายธนวรรธน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 66)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ท่องเที่ยว, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย