ก.ล.ต. เปิดเฮียริ่งร่างประกาศห้ามให้บริการหรือสนับสนุน deposit taking & lending

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (deposit taking & lending) เพื่อเพิ่มความคุ้มครองผู้ซื้อขายและประชาชนจากความเสี่ยงทางธุรกิจของผู้ให้บริการ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตการกำกับดูแลของภาครัฐ

ตามที่ ก.ล.ต. มีแนวคิดในการห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการ deposit taking & lending เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและประชาชนจากการหยุดให้บริการรวมถึงปัญหาทางการเงินของผู้ให้บริการในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดขึ้นในลักษณะต่อเนื่องหรือพร้อม ๆ กันหลายแห่งเช่นเดียวกับที่ได้เกิดขึ้นกับผู้ให้บริการในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ

ก.ล.ต. จึงได้จัดทำร่างประกาศตามหลักการที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องไปเมื่อเดือนกันยายน – ตุลาคม 2565 ตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 และขอรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากไปให้กู้ยืมหรือลงทุน และจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝาก

(2) ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้ผลตอบแทนจากการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นแก่ผู้ฝาก เว้นแต่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมการขายตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

(3) ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโฆษณาหรือชักชวนบุคคลทั่วไปหรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการให้บริการ deposit taking & lending ตามข้อ (1) และ (2) ของผู้ให้บริการหรือบุคคลอื่น

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศดังกล่าว บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=884 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 7 เมษายน 2566

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 66)

Tags: ,
Back to Top