ค่าเงินบาทระยะสั้นมีลุ้นอ่อนค่าแตะ 36 บาท/ดอลลาร์ หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ดันกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย หนุนทิศทางดอลลาร์แข็งค่า
น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองว่า ในระยะนี้ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท จะให้น้ำหนักไปที่ปัจจัยต่างประเทศเป็นหลักมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์นโยบายธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) และมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
โดยล่าสุด ตลาดได้ทบทวนมุมมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง สู่ระดับ 5.5% ทั้งนี้ หากมีสัญญาณว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลงเร็วกว่าคาด ก็จะส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ เนื่องจากได้ปรับตัวรับการคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดที่สูงขึ้นไปแล้ว และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดในปีนี้
น.ส.รุ่ง ยังประเมินทิศทางเงินบาทในช่วงระยะ 1 เดือนจากนี้ โดยให้กรอบไว้ที่ 33.75-35.50 บาท/ดอลลาร์ โดยมองว่าเงินบาทยังมีความผันผวนสูง (เดือน ก.พ. แกว่งตัวกว่า 2.70 บาท) และเงินบาทมีโอกาสจะอ่อนค่าไปถึงระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ ได้เช่นกัน หากมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลงช้าเกินไป หรือเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัว ก็จะส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดสูงขึ้น และกระตุ้นกระแสเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย
อย่างไรก็ดี จากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีต่อสภาคองเกรสล่าสุด ได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่เป้าหมายที่เฟดกำหนดไว้ที่ 2% ซึ่งทำให้ตลาดเชื่อว่าในการประชุมวันที่ 20-21 มี.ค.นี้ เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50%
ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับเพดานดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปแตะที่ระดับ 5.50-5.75% ในช่วงเดือนมิ.ย.66 และเฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกกรณีสงครามในยูเครน และระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งหากลุกลามขยายวงกว้างแล้ว จะส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกพักเงินไว้ในดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสุด
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบวันที่ 29 มี.ค.66 นี้ คาดว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.75% โดยพิจารณาจากปัจจัยเงินเฟ้อที่มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งนำโดยภาคบริการและการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว
พร้อมมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปในลักษณะไม่ทั่วถึง และยังมีความเปราะบาง เช่น ในภาคครัวเรือน ธุรกิจขนาดกลางและย่อม นอกจากนี้ การส่งออกได้รับผลกระทบเชิงลบจากการที่ประเทศเศรษฐกิจหลักขึ้นดอกเบี้ยเร็วและต่อเนื่องในปี 65 จึงส่งผลทำให้ในปี 66 เศรษฐกิจคู่ค้าของไทยชะลอตัวลง ซึ่งสอดคล้องกับการเริ่มเห็นการหดตัวของภาคส่งออกในไตรมาส 4/65
ส่วนปัจจัยในประเทศ เช่น การเลือกตั้งใหญ่ของประเทศที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แม้จะอยู่ในความสนใจของตลาด แต่ผลกระทบต่อค่าเงินบาทยังมีค่อนข้างจำกัดในช่วงนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 66)
Tags: ZoomIn, ค่าเงินบาท, รุ่ง สงวนเรือง, เงินบาท