หลังจากเกิดประเด็นดังทุนจีนสีเทา ‘จีนบุกไทย’ ก็กลายเป็นอีกประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในโลกโซเชียล โดยคนไทยตั้งข้อสังเกตว่า เริ่มพบเห็นร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต หรือศูนย์ขายส่งสินค้าของจีน เพิ่มจำนวนมากขึ้นในประเทศไทย และเกิดการตั้งคำถามต่อมาว่า ตามกฎหมายแล้วคนต่างด้าว หรือคนที่ไม่มีสัญชาติไทยสามารถทำธุรกิจแข่งกับคนไทยได้หรือไม่
คำตอบคือสามารถ ‘ทำได้’ แต่ต้องได้รับ ‘อนุญาต’ จากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญชีสาม (19) การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ปัจจุบันร้านอาหารจีนในไทย คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 1,000 ร้าน กระจายอยู่ตามจังหวัดท่องเที่ยว ทั้งกทม. เชียงใหม่ ภูเก็ต แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด เนื่องจากไม่มีการเก็บข้อมูลแบบเป็นทางการจากหน่วยงานใด
ปัญหาของประเทศไทย คือ กฎหมายร้านอาหารเป็นกฎหมายเชิงอะลุ่มอล่วย หากพบว่าร้านไม่มีใบอนุญาต เจ้าหน้าที่จะตักเตือน และให้เวลาในการแก้ไขให้ถูกต้อง ขณะที่ต่างประเทศมีกฎหมายที่เข้มงวด ถ้าไม่มีใบอนุญาตถูกต้อง จะไม่สามารถเปิดกิจการได้เลย ถ้ากรณีป้ายร้านค้าภาษาจีน ก็เป็นเรื่องกฎหมายป้าย ซึ่งเขตจะต้องตรวจสอบว่าเสียภาษีป้ายหรือไม่ ส่วนปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว ตามกฎหมายแล้ว แรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถให้บริการเสิร์ฟอาหารได้
ทั้งนี้ หากจะเอาผิดร้านอาหารคนจีน ซึ่งส่วนใหญ่ลูกจ้างเป็นคนไทยใหญ่ที่พูดภาษาจีนได้ ร้านอาหารคนไทยก็ต้องได้รับบทลงโทษด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีร้านอาหารไทยจำนวนหนึ่งที่ใช้แรงงานต่างด้าวทำหน้าที่ในการเสิร์ฟอาหาร แต่ถ้าเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่นั้น คาดว่าส่วนใหญ่จะมีการทำใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) แต่ต่างด้าวบางคนก็ถือพาสปอร์ตท่องเที่ยว และต่อพาสปอร์ตเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ปัญหาหลักอีกเรื่อง คือ รัฐบาลไทยดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากกลัวกระทบความสัมพันธ์กับจีน เพราะไทยต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีน จึงอาจทำให้เจ้าหน้าที่อะลุ่มอล่วยมากเกินไป จนเป็นการเปิดช่องให้กระทำผิดได้
พร้อมมองว่า สิ่งที่คนไทยเสียเปรียบ คือ คนจีนมีเงินลงทุนเปิดร้านมากกว่าคนไทย ทำให้คุณภาพมาตรฐาน การบริการ สินค้าน่าสนใจ ส่วนใหญ่ราคาอาหารไม่สูงมาก แต่ราคาแอลกอฮอล์ และค่าบริการค่อนข้างสูง ดึงดูดลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อ
นางฐนิวรรณ กล่าวว่า การเปิดร้านอาหารในไทยทำไม่ยาก มีเงินก็ทำได้ ผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยควรเร่งปรับตัว เพื่อไม่ให้เสียตลาดให้ต่างชาติ สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่ได้ มาจากผู้บริโภคชาวไทยเองที่อุดหนุน อยากให้คนไทยช่วยกันอุดหนุนคนไทยด้วยกันเอง
* ความซับซ้อนของกฎหมาย ยิ่งกระตุ้นให้เลี่ยงกฎหมาย
นายไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร กรรมการเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-จีน กล่าวว่า ปัจจุบันเมื่อเดินตามท้องถนนในย่านเยาวราช ห้วยขวาง หรือแหล่งท่องเที่ยว จะพบเห็นซูเปอร์มาร์เก็ตจีนจำนวนมากขึ้น และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากนักธุรกิจทั้งคนจีนและคนไทยรอโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไทย จีน และชาติอื่นๆ ที่จะเดินทางมามากขึ้น
อย่างไรก็ดี ชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีนลงทุนในไทยมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ทั้งชาวยุโรป หรือญี่ปุ่น แต่คนไทยอาจไม่สังเกต เนื่องจากจำนวนอาจไม่มาก หรืออาจเป็นธุรกิจที่ไม่หวือหวา มีการแทรกซึม หรือการเป็นนอมินี
การลงทุนของนักลงทุนจีนในไทย มีทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เนื่องจากกฎระเบียบในการเปิดธุรกิจของไทยค่อนข้างซับซ้อน มีหลายขั้นตอน ขนาดคนไทยหากจะเปิดร้าน ก็ต้องมีการขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน คนจีนซึ่งเป็นคนต่างถิ่นจึงอาจเริ่มต้นทำไม่ถูกต้อง ถ้าไม่มีสำนักงานกฎหมาย ผู้ที่มีความรู้ หรือผู้ถือหุ้นชาวไทยมาช่วยแนะนำ
ทั้งนี้ ร้านค้าที่ยังดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายยังมีอีกจำนวนมาก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปตรวจสอบ ก็ต้องหยุดดำเนินกิจการทันทีเป็นการชั่วคราว และขออนุญาตให้ถูกต้องเพื่อกลับมาดำเนินกิจการต่อ
ในส่วนของสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต มีผู้ประกอบการหลายราย โดยเฉพาะรายเล็ก มักเข้าใจว่าสามารถนำเข้าสินค้าเข้ามาเองได้โดยไม่ต้องตรวจสอบ ซึ่งแท้จริงแล้วสินค้าอาหารต้องได้รับการอนุญาตจาก อย.ไทย มีการติดฉลาก และระบุหมายเลข อย. ให้ถูกต้อง ส่วนสินค้าทั่วไปก็ต้องได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ระบุให้ชัดเจน ทั้งนี้ ตามข้อตกลงของกรมศุลกากรไทย สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร และไม่ได้มีมูลค่าเกิน 1,500 บาท ก็จะไม่ต้องเสียภาษี
สำหรับการใช้แอปพลิเคชัน WeChat Pay (แอปพลิเคชันบนมือถือ แทนการใช้เงินสดและบัตรเครดิต) ในประเทศไทย เงินจะเข้าบัญชีที่ประเทศจีน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจีน แต่สินค้าจีน ถ้ามีการนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย มาวางจำหน่ายในไทย การซื้อขายต้องใช้เงินบาท ไทยก็จะได้ประโยชน์จากการเสียภาษี
“WeChat Pay ในไทยใช้ได้ เขาชำระเงินในไทยก็จริง แต่ก็จะโดนเก็บค่าธรรมเนียม ไทยไม่ต้องกลัวเสียรายได้ เพราะถ้าสินค้านำเข้ามาถูกต้อง ก็ต้องมีการเสียภาษีอยู่แล้ว” นายไกรสินธุ์ กล่าว
* แนะปรับกฎระเบียบ อุดช่องโหว่เลี่ยงกฎหมาย
นายไกรสินธุ์ มองว่า การที่คนจีนมาลงทุนในไทย เช่น การเปิดศูนย์ขายส่งสินค้าขนาดใหญ่ถือเป็นเรื่องดี แต่ก็มีอีกหลายรายที่ตัดสินใจย้ายไปลงทุนที่ประเทศอื่น เนื่องจากระเบียบข้อบังคับในไทยซับซ้อน ทั้งนี้ ปัจจัยเรื่องการท่องเที่ยวอาจมีส่วนช่วยในการดึงดูดนักลงทุนมากขึ้นได้
“การที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยถือเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องทำให้ถูกกฎหมาย FDI (การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ) ไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ไทยก็เปิดรับทุกชาติ แต่การดึงให้ต่างชาติเข้ามายากกว่า ก็หวังให้เข้ามาเยอะๆ เพราะเวลามาลงทุนก็ต้องใช้เงินบาท” นายไกรสินธุ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรย้อนกลับมาดูนโยบาย วิธีปฏิบัติว่าจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า และการลงทุนของต่างชาติให้ดีกว่าปัจจุบัน ช่วยให้ต่างชาตินำเงินทุนเข้ามาในไทย เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง และเพิ่มการจ้างงานคนไทย รวมทั้งสามารถเก็บภาษีจากการค้าเพิ่มมากขึ้น
“กฎระเบียบทางการค้าของไทยมีมากมาย ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ดังนั้นไม่ควรกล่าวโทษผู้ที่จะมาลงทุนทั้งชาวจีน และชาวต่างประเทศอื่นๆ ไทยควรปรับปรุงนโยบาย และมองโอกาสให้เป็น” นายไกรสินธุ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 66)
Tags: การลงทุน, จีน, ฐนิวรรณ กุลมงคล, ธุรกิจ, ร้านอาหาร, สมาคมภัตตาคารไทย, ไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร