ทีมวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ตั้งข้อสังเกตต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมือง 4 ด้านคือ นโยบายคมนาคมและขนส่ง นโยบายด้านเกษตร นโยบายด้านแรงงาน และนโยบายสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
– นโยบายด้านการคมนาคมขนส่ง
ข้อเสนอของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแนวนโยบายกว้างๆ ที่ขาดรายละเอียดสำคัญ ทั้งในส่วนของงบประมาณและการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้น นโยบายที่ถูกนำเสนอมากที่สุดเป็นเรื่องการพัฒนาศูนย์กลางการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Logistics Hub) การสร้างโครงข่ายมอเตอร์เวย์และระบบรางเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และการใช้อัตราค่าโดยสารร่วมของระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล บางพรรคการเมืองเริ่มนำเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับนโยบายส่วนคมนาคมขนส่ง เช่น ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และกำหนดข้อจำกัดการปล่อยมลพิษของยานพาหนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
อัตราค่าโดยสารร่วมของระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่พรรคการเมืองเสนอเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าโดยสารระบบรางที่อยู่ในระดับสูง แต่การปรับลดค่าโดยสารของระบบรางอาจไม่สามารถทำได้มากเหมือนที่พรรคการเมืองเสนอ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมาก ทีมวิจัยเห็นว่าพรรคการเมืองควรพิจารณาระบบขนส่งมวลชนอื่นประกอบด้วยโดยเฉพาะรถเมล์ซึ่งสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงที่สุด
ขณะที่มีพรรคการเมืองบางพรรคเสนอให้เปลี่ยนรถเมล์เป็นรถเมล์ไฟฟ้า ทีมวิจัยเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีและใช้งบประมาณไม่มาก อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองควรมีนโยบายในการปรับปรุงรถเมล์ให้ครอบคลุมขึ้น ทั้งการกำหนดเส้นทางและจำนวนเที่ยวที่ให้บริการ และควรมีนโยบายในการให้เงินอุดหนุนบริการรถเมล์ที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพบริการให้ประชาชนอยากใช้มากขึ้น และหากทำได้สำเร็จแล้ว พรรคการเมืองก็อาจพิจารณากำหนดค่าโดยสารร่วมของระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด ทั้งระบบราง รถเมล์ และเรือ ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารโดยรวมต่อเที่ยวการเดินทางลดลง และช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ นโยบายด้านระบบขนส่งสาธารณะที่พรรคการเมืองเสนอส่วนใหญ่ยังมักจำกัดอยู่เฉพาะระบบขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งที่ประชาชนในต่างจังหวัดก็ขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพเช่นกัน ทำให้ยังต้องพึ่งพารถส่วนตัวและจักรยานยนต์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้รับการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการหรือร่วมตัดสินใจในการจัดระบบขนส่งในพื้นที่ของตน
ทีมวิจัยจึงมีข้อเสนอว่าพรรคการเมืองควรมีนโยบายส่งเสริมให้ท้องถิ่นที่มีความพร้อมสามารถจัดทำระบบขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่ เช่น สนับสนุนจังหวัดขอนแก่นให้สามารถจัดทำระบบรางให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็วเพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น
ด้านการขนส่งสินค้า พรรคการเมืองควรมีนโยบายจัดสร้างสถานีขนส่งคอนเทนเนอร์ (Container Yard) ในบริเวณชุมทางใหญ่ของระบบรางในภูมิภาคต่างๆ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และนครสวรรค์ เนื่องจากจะสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบรถไฟทางคู่ที่ลงทุนไว้แล้ว ลดปัญหาความแออัดในการขนส่งสินค้าจากทั่วประเทศจากการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าไปมาระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง และที่สำคัญจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของสินค้าในประเทศและเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีผลในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค
นอกจากนี้ พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายก่อสร้างมอเตอร์เวย์ หรือระบบรางเพิ่มเติม ควรพิจารณาปรับปรุงนโยบายดังกล่าวไม่ให้เกิดการทับซ้อนกันของมอเตอร์เวย์และระบบราง เพื่อไม่ให้แข่งขันกันเองและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ตลอดจนทำให้เกิดการกระจุกตัวในการพัฒนาเฉพาะบางพื้นที่ โดยควรพิจารณาลงทุนระบบรางในเส้นทางหลัก และระบบมอเตอร์เวย์ในเส้นทางเชื่อมโยงกับระบบรางไปยังพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ
– นโยบายด้านการเกษตร
แม้แทบทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายด้านการเกษตร แต่ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อนโยบายนี้น้อยกว่านโยบายด้านสวัสดิการ โดยครอบคลุม 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่ (ก) การประกันรายได้ การอุดหนุนชาวนาและชาวประมง ที่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 4.57 แสนล้านบาท (ข) การถือครองที่ดินและสิทธิทำกินบนที่ดินของพรรคการเมือง 4 พรรค (ค) การใช้เทคโนโลยีการเกษตรของพรรคการเมือง 2 พรรค (ง) นโยบายด้านสินเชื่อและการพักชำระหนี้ของพรรคการเมือง 3 พรรค และ (จ) การจัดการน้ำของ 3 พรรค
ภาพรวมนโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาหลักของภาคเกษตรไทยซึ่งประกอบไปด้วยการที่เกษตรกรมีอายุสูงขึ้น ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มต่ำ การผลิตใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำและที่ดินมาก ทำให้จะต้องปรับตัวอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ในอนาคตภาคเกษตรยังจะได้รับแรงกดดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ส่วนของนโยบายให้เงินอุดหนุนเกษตรกร แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของเกษตรกรที่เกิดจากภาวะราคาพืชผลตกต่ำและวิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้งได้ แต่ผลการวิจัยทั้งในไทยและต่างประทศพบว่า การอุดหนุนโดยไม่มีเงื่อนไขมักทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรในการปรับตัว โดยเฉพาะทำให้ไม่หันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ประหยัดการใช้ทรัพยากร และลดปัญหาการสร้างก๊าซเรือนกระจก
นโยบายสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่พรรคการเมืองนำมาหาเสียงคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินกับรัฐ ซึ่งเกิดจากการมีกฎหมายประกาศเขตป่าอนุรักษ์หรือป่าอุทยานทับซ้อนกับที่ดินของเกษตรกร ทั้งที่เกษตรกรจำนวนมากอาศัยทำกินมาก่อน อย่างไรก็ตามรัฐบาลที่ผ่านมาทุกชุดยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะใช้นโยบายป่าชุมชนและโฉนดชุมชน
นโยบายการแจกที่ดินทำกินให้เกษตรกรที่เสนอกันขึ้นมาจะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อีกต่อไปเพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน (สปก.) มาตั้งแต่ปี 2518 รัฐบาลได้แจกที่ดินให้เกษตรกรถึง 36.4 ล้านไร่ (24.4% ของที่ดินการเกษตร) ทำให้ไทยเป็นประเทศที่แจกที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ก็ถึงทางตันจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือ การจำกัดสิทธิของเกษตรกรไม่ให้ใช้ที่ดิน สปก.ในกิจกรรมที่ไม่ใช่การเกษตร คุณภาพของที่ดินไม่เหมาะต่อการเกษตร การที่เกษตรกรนำที่ดินที่ได้รับแจกไปขาย และการที่ลูกหลานของเกษตรกรไม่ต้องการทำอาชีพเกษตรอีกต่อไป
ส่วนปัญหาหนี้สิน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนเกษตรกร 90% มีหนี้สินสูงเกิดจากการมีรายได้ไม่เพียงพอและไม่แน่นอน การไม่สามารถควบคุมการใช้จ่าย การขาดความรู้ทางการเงินและการที่สถาบันการเงินขาดข้อมูลด้านการเงินของเกษตรกร ทำให้การทำสัญญาการชำระเงินไม่สอดคล้องกับกระแสเงินสดของเกษตรกร นอกจากนี้การมีนโยบายพักชำระหนี้อย่างต่อเนื่องยังทำให้มีการปล่อยสินเชื่อใหม่ในขณะที่ยังไม่ได้จัดการกับหนี้เดิมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินพอกพูนมากขึ้น การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรจึงไม่ใช่สามารถทำได้โดยพักชำระหนี้ที่เคยทำมาในอดีต หรือยกเลิกการแบล็คลิสต์ของเครดิตบูโร ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบการเงินของประเทศ
ทีมวิจัยมีข้อเสนอว่าพรรคการเมืองควรหันมาให้ความสนใจมากขึ้นในการคิดค้นนโยบายช่วยเหลือให้เกษตรกรเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มในการผลิต และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้พรรคการเมืองควรคิดค้นนวัตกรรมทางนโยบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินกับรัฐ การขยายสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาที่ดิน การสนับสนุนให้เกษตรกรยากจนเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นนอกภาคเกษตร การปรับโครงสร้างหนี้และการให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพและกระแสรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งการปรับปรุงเงื่อนไขสัญญากู้ยืมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของเกษตรกร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาฐานข้อมูลสินเชื่อเกษตรกรที่ครอบคลุม
– นโยบายแรงงาน
พรรคการเมืองส่วนใหญ่เน้นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งแข่งขันกันว่าพรรคใดจะเสนอค่าจ้างขั้นต่ำได้สูงกว่ากัน และการสร้างงานใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ยังไม่มีนโยบายชัดเจนที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาสำคัญของตลาดแรงงานไทยคือการเพิ่มผลิตภาพแรงงานซึ่งหมายถึงความสามารถของคนงานในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แม้แต่พรรคการเมืองที่เสนอเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ได้เสนอหลักคิดที่เชื่อมโยงค่าจ้างขั้นต่ำเข้ากับผลิตภาพแรงงาน นอกจากนี้พรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่ได้เสนอนโยบายแรงงานต่างด้าวว่าควรมีจำนวนเท่าใดและควรใช้แรงงานต่างด้าวอย่างไร ทั้งที่การมีแรงงานต่างด้าวที่มีค่าแรงต่ำจำนวนมากมีผลทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัวเพิ่มผลิตภาพ
ผลิตภาพแรงงานมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้คนทำงานได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การเพิ่มผลิตภาพแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่นายจ้างปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น นำเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น ตลอดจนลดความสูญเสียต่างๆ ในการประกอบการ ผลิตภาพแรงงานยังเกิดขึ้นได้จากการที่แรงงานมีทักษะที่สูงขึ้นโดยการได้รับฝึกอบรมที่มีคุณภาพ
ทีมวิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้
หนึ่ง ควรกำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่เหมาะสมที่ทำให้แรงงานมีรายได้สูงขึ้น ขณะที่นายจ้างยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ พร้อมกับกำหนดระยะเวลาในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เช่น 4 ปี โดยมีสูตรการคำนวณในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่ชัดเจนตามผลรวมของ 1.อัตราการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน 2.อัตราเงินเฟ้อ และ 3.อัตราการปรับเพิ่มเฉลี่ยในแต่ละปีเพื่อให้ค่าจ้างขั้นต่ำเข้าสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้การพิจารณาองค์ประกอบทั้งหลายควรคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละพื้นที่และอุตสาหกรรมด้วย
การใช้สูตรดังกล่าว โดยกำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายและระยะเวลาในการปรับไปสู่เป้าหมายดังกล่าวที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างจะทำให้ทุกฝ่ายสามารถวางแผนชีวิตและวางแผนธุรกิจของตนได้ โดยลูกจ้างได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายจ้างก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
สอง พรรคการเมืองควรมีนโยบายสนับสนุนให้ SMEs เพิ่มผลิตภาพด้วยการลดความสูญเสียในการประกอบการ (ดูนโยบายด้าน SMEs ในส่วนที่ 4 ประกอบ) และใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานทักษะต่ำ ตลอดจนมีนโยบายในการฝึกทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยอาจให้คนงานได้รับ “คูปองฝึกทักษะ” (Training Coupon) เพื่อสามารถไปรับการฝึกทักษะที่ต้องการได้จากผู้ให้บริการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ
สาม พรรคการเมืองควรเสนอนโยบายลดจำนวนแรงงานต่างด้าวลงในระยะยาว โดยควรเหลือเฉพาะแรงงานสำหรับงานที่คนไทยไม่ต้องการทำและไม่สามารถทดแทนด้วยเครื่องจักร โดยควรประกาศแผนให้ชัดเจนว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะลดจำนวนคนงานต่างด้าวเหลือเท่าใด ในอุตสาหกรรมใด และออกมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง ทั้งการขึ้นทะเบียน การต่อใบอนุญาตและการให้สิทธิประโยชน์ของแรงงาน เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างทราบถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน
– นโยบายสนับสนุน SMEs
มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพียง 2 พรรคเท่านั้น โดยภาพรวมนโยบายให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การให้เงินทุนแก่ SMEs, การยกเว้นและลดภาษีเงินได้, การเพิ่มช่องทางการขายสินค้าและบริการ และการปรับแก้กฎหมายเพื่อช่วยปลดล็อคการประกอบธุรกิจของ SMEs อย่างไรก็ตามยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายชัดเจนในการช่วยเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในระยะยาว
นโยบายตั้งกองทุนเพื่อให้เงินทุนแก่ SMEs ของบางพรรคการเมืองน่าจะถูกเสนอขึ้นเพื่อสนองต่อ SMEs จำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีความพยายามช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้แก่ SMEs จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น SME Bank บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอยู่แล้ว แต่ SMEs จำนวนมากก็ยังไม่สามารถผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจึงเข้าไม่ถึงเงินทุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผลประกอบการไม่ดีและเสี่ยงที่สินเชื่อจะกลายเป็น NPL
นโยบายการเพิ่มลูกค้าให้แก่ SMEs ไม่ว่าจะเป็น หวย SMEs หรือการกำหนดให้การซื้อสินค้าจาก SMEs สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และการให้คูปองแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น อาจเพิ่มรายได้ให้แก่ SMEs ได้บ้าง แต่ก็จะเป็นการช่วยเหลือ SMEs ในระยะสั้นเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ในระยะยาว เพราะจะต้องใช้งบประมาณมาก เช่นเดียวกันกับโครงการที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์ ทั้งโครงการคนละครึ่ง ที่เคยช่วยกระตุ้นรายได้ของ SMEs ในช่วงสั้นๆ ที่โควิด-19 ระบาด หรือโครงการช้อปดีมีคืน ที่มีผลช่วย SMEs ไม่มากเพราะ SMEs ที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ ส่วน SMEs ที่เหลือเกือบทั้งหมดก็ถูกกีดกันออกจากโครงการช้อปดีมีคืน ในส่วนที่ต้องออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีเฉพาะธุรกิจใหญ่เท่านั้นที่สามารถทำได้
นโยบายช่วยเหลือ SMEs ที่พรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่ควรพิจารณาช่วยเหลือให้ SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การบริหารคลังสินค้า การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การทำบัญชี การตลาดและการส่งออก อย่างไรก็ตาม SMEs แต่ละแห่งมีจุดอ่อนที่แตกต่างกัน แนวทางสนับสนุน SMEs ที่ทีมวิจัยแนะนำคือ การใช้ระบบวินิจฉัยธุรกิจ คล้ายกับระบบชินดัง (Shindan) ของญี่ปุ่น โดยให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วไปเข้าไปวินิจฉัย SMEs แต่ละแห่งว่ามีจุดอ่อนในด้านใด หลังจากนั้นก็ให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้คำปรึกษาในเชิงลึกจนสามารถช่วยให้ SMEs มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลควรให้การสนับสนุนบางส่วนในรูปของคูปองเพิ่มผลิตภาพ (Productivity Coupon) และให้ SMEs ออกเงินสมทบบางส่วนด้วย ทั้งนี้เมื่อ SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพได้แล้วก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้น และสามารถเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลสนับสนุนให้ใช้กลไกประกันสินเชื่อของ บสย. ประกอบด้วย
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคการเมืองในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของ SMEs โดยเฉพาะการปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจต่างๆ โดยเสนอให้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่าการกิโยตินกฎหมาย ซึ่งเคยใช้ได้ผลในต่างประเทศและบางหน่วยงานในประเทศไทยมาแล้วเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต. นอกจากนี้ควรป้องกันไม่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่เอาเปรียบ SMEs โดยบังคับใช้ประกาศเรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ ให้เกิดประสิทธิผล เพื่อให้ SMEs ได้รับรายได้เร็วขึ้นและมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 66)
Tags: TDRI, พรรคการเมือง, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, เลือกตั้ง