หลังจากกระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออกเดือน ม.ค. ติดลบ 4.5%YoY หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ -1.0% จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้ายังอ่อนแอ ซึ่งการหดตัวดังกล่าวอยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่ออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักหลายรายการยังจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลังหลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน (Work from home: WFH) ลดลง ซึ่งมีผลให้สินค้าบางประเภท มีแนวโน้มอยู่ในวัฏจักรสินค้าช่วงขาลง เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และอาจต้องรอให้ปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในไตรมาสที่ 2/66
ดังนั้น การส่งออกในระยะข้างหน้า จึงยังเผชิญแรงกดดันและมีโอกาสที่มูลค่าการส่งออกในปี 2566 อาจต่ำกว่าประมาณการที่เคยประเมินไว้เดิม และมีโอกาสจะขยายตัวในอัตราติดลบ
ทั้งนี้ การหดตัวติดต่อกันของมูลค่าส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากหมวดอุตสาหกรรมที่เผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าที่อ่อนแรง รวมทั้งความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ที่กระทบต่อความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักหลายหมวด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และอัญมณีฯ ประกอบกับผลสืบเนื่องจากปัญหาของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ กดดันการส่งออกในกลุ่มพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจีน
ขณะเดียวกัน การส่งออกคอมพิวเตอร์ ยังเผชิญกับวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาลง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวในไตรมาสที่ 4/65 ถึง 8%QoQ โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมข้างต้นมีสัดส่วนทั้งหมดคิดเป็น 32.9% และถือเป็นที่มาของการหดตัวรวมกันถึง 5.2%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 66)
Tags: krungthai COMPASS, KTB, ส่งออก, เศรษฐกิจโลก