นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตรมช.แรงงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงสาเหตุหลักที่ทำให้คนติดกับดักความยากจน คือ 1. ขาดที่ทำกิน 2. ขาดทักษะ 3. ไม่มีงานทำ และ 4. มีปัญหาหนี้สิน การแก้ปัญหาความยากจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงต้องแก้ที่ต้นเหตุที่ต่างกันไปในแต่ละคน แต่ละครัวเรือน
ทั้งนี้ การให้เงินคนมีรายได้น้อย เป็นเพียงการช่วยให้เข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานเท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือตามสาเหตุของความยากจน ช่วยเรื่องที่ทำกิน เติมทักษะในการประกอบอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และที่สำคัญต้องช่วยให้เขามีงานทำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่มีนายจ้าง อาจเป็นอาชีพอิสระ หรืออาจเป็นงานที่รับไปทำที่บ้านได้
ด้านภาระค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากค่าครองชีพแล้ว ค่าใช้จ่ายอีกส่วนใหญ่ของคนไทย คือ ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่น่าสนใจว่า จากปี 2560-2565 สัดส่วนคนไทยที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจาก 30% (20 ล้านครัวเรือน) เป็น 37% (25 ล้านครัวเรือน) ของประชากรไทย หมายความว่า ขณะนี้คนไทยเกิน 1 ใน 3 มีหนี้ โดยที่ 57% มีหนี้เกินหนึ่งแสนบาท และมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนเท่ากับ 520,000 บาท เพิ่มขึ้น 2 เท่าให้ห้วง 10 ปีที่ผ่านมา
ในส่วนของเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้อยู่ที่ 34% และ 41% ตามลำดับ จึงทำให้สองกลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะติดกับดักความยากจน
อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ คนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงาน เกือบ 2 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ ได้แก่ หนี้ส่วนบุคคล (39%) และหนี้บัตรเครดิต (29%) โดยมีกลุ่มวัยเริ่มทำงานในสัดส่วนสูงที่สุดของหนี้ที่ไม่สร้างรายได้นี้ ขณะเดียวกัน กลุ่มวัยรุ่นเริ่มทำงานยังมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วยถึง 1 ใน 4
ดังนั้น หากคนรุ่นใหม่ที่มีหนี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือแก้ไขแต่เนิ่นๆ จะกลายเป็นกลุ่มที่เสี่ยงติดกับดักความยากจน เพราะประวัติหนี้เสียจะทำให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยากขึ้นในอนาคต ซึ่งย่อมส่งผลต่อปัญหาอื่นในสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้คนรุ่นใหม่ หนี้เกษตรกร และหนี้ของผู้มีรายได้น้อย ต้องได้รับการจัดการไม่เหมือนกัน เนื่องจากองค์ประกอบและเหตุแห่งการเป็นหนี้ต่างกัน อีกทั้งควรเป็นวิธีการที่ยั่งยืน ไม่ใช่การพักหนี้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาเรื่องแนวทางการเพิ่มรายได้ และการจัดสวัสดิการสำหรับสามกลุ่มนี้ให้เหมาะสมมากขึ้น โดยรัฐไม่จำเป็นต้องจัดสวัสดิการเองทั้งหมด แต่ร่วมกับเอกชน เช่น คนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงาน ควรได้รับสวัสดิการช่วยค่าครองชีพในช่วงวัยเริ่มทำงาน โดยให้นายจ้างได้รับส่วนลดภาษีจากรัฐบาล สำหรับสวัสดิการค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวันที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้างที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 66)
Tags: นฤมล ภิญโญสินวัฒน์, หนี้ครัวเรือน, เศรษฐกิจ