นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมอยากได้” พบว่า จากการที่ประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเดือนพ.ค. ที่จะถึงนี้ ภาคอุตสาหกรรมมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่เราจะได้รัฐบาลใหม่ และมีนโยบายใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
ทั้งนี้ จากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่คาดหวังให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับกรอบนโยบายใน 5 เรื่อง ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงานและการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้แก่ประเทศ
2. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
3. การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น
4. การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME
5. การแก้ไขปัญหาโลกร้อน Climate change มาตรการกีดกันทางการค้า และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี ในแต่ละเรื่อง ส.อ.ท. ได้มีการสำรวจความเห็นเจาะลึกในแต่ละประเด็นนโยบายย่อย เพื่อเป็นโจทย์ให้กับพรรคการเมืองที่มีการหาเสียงอยู่ในขณะนี้ นำไปใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคตต่อไป
โดยนโยบายที่มองว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาต้นทุนพลังงาน และการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้แก่ประเทศได้มากสุด คือ การเร่งเปิดเสรีพลังงานทางเลือก ส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงาน รองลงมา คือ การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ส่วนนโยบายที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมได้มากสุด คือ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต รองลงมาก คือ การส่งเสริมการลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ในประเทศ เช่น การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี, การอำนวยความสะดวก, การสนับสนุนด้านการเงิน เป็นต้น
สำหรับนโยบายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้มากสุด คือ การเพิ่มบทลงโทษคนกระทำผิด และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมโดยให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วเป็นสำคัญ รองลงมา คือ การปรับรูปแบบจากระบบการขออนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ มาเป็นการรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมาย (Self- Declaration) และตรวจติดตามผล
ส่วนนโยบายที่ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ได้มากสุด คือ การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SME และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ รองลงมา คือ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ
สำหรับนโบายที่ช่วยรับมือกับปัญหาโลกร้อน (Climate change) มาตรการกีดกันทางการค้าและการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด คือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อนำของเสียกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ รองลงมา คือ การสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป
โดยในการจัดทำ FTI Poll ครั้งที่ 26 ในเดือนก.พ. 66 ได้มีการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 255 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 66)
Tags: การเลือกตั้ง, มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์, รัฐบาล, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย