กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนม.ค.66 โดยมูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 20,249 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.5% จากตลาดคาดราว -1.4 ถึง -1.8% โดยการส่งออกลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเดือนธ.ค.65 ที่ลดลง 14.6% ขณะที่มูลค่าการนำเข้า อยู่ที่ 24,899 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.5% ส่งผลให้ในเดือนม.ค. ไทยขาดดุลการค้า 4,649 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 10 ปี
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนม.ค.66 ลดลงในทุกกลุ่มสินค้า โดยสินค้าเกษตร มูลค่าการส่งออก 1,814 ล้านบาท ลดลง 2.2% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการส่งออก 1,585 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.3% และสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออก 16,053 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.4%
ปัจจัยสำคัญที่กดดันการส่งออก คือ อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และภาคการผลิตโลกหดตัว
ขณะที่ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ประเทศคู่ค้ามีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศล มีคำสั่งซื้อสินค้าในช่วงเทศกาล และการเปลี่ยนผ่านไปใช้นโยบายพลังงานทางเลือก ของประเทศคู่ค้า
นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนม.ค.66 หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า และยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย โดยตลาดส่งออกของไทยหลายตลาดกลับมาขยายตัว ได้แก่ สหภาพยุโรป ลาตินอเมริกา อินเดีย แอฟริกา และอาเซียน (5) ท่ามกลางผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของค่าเงินบาท เป็นผลจากความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนในการผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ที่มีส่วนช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยภายใต้แรงกดดันของเศรษฐกิจโลก ลดการกระจุกตัวของตลาดส่งออก และจะช่วยเพิ่มการกระจายของสินค้าไทยในอนาคต
อย่างไรก็ดี ในเดือนม.ค. ยังมีสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 72.3% ไขมัน-น้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัว 124% ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 50% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 9.2% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัว 72.3% รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 16.4% เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัว 47.1% หม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบ ขยายตัว 44.9%
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกเดือนม.ค. ไปยังตลาดสำคัญยังคงหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของภาคการผลิตโลก โดยตลาดหลัก หดตัว 5.3% ตลาดรอง หดตัว 3.1% ขณะที่ตลาดอื่นๆ ขยายตัว 17.4% สำหรับตลาดส่งออกของไทย ที่ขยายตัวได้ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.ซาอุดีอาระเบีย ขยายตัว 68.8% 2.อิรัก ขยายตัว 57.7% 3.อิตาลี ขยายตัว 51.5% 4.บรูไน ขยายตัว 49.5% 5.แอฟริกาใต้ ขยายตัว 47.9% 6.สิงคโปร์ ขยายตัว 27.3% 7.เม็กซิโก ขยายตัว 16.4% 8.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัว 14.4% 9.บังกลาเทศ ขยายตัว 6.9% และ 10.อินเดีย ขยายตัว 5.3%
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกของไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ลดการบริโภคจากต้นทุนค่าครองชีพที่สูง แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้บรรยากาศการค้าโลกที่ยังตึงเครียด จากการกีดกันทางการค้า รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น กระทบต่อการส่งออกของไทย
“กระทรวงพาณิชย์ ยังคงทำงานอย่างเต็มที่ในการผลักดันการส่งออกสินค้า และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าของคนไทยออกไปสู่ตลาดโลก รวมทั้งอำนวยความสะดวกและสร้างโอกาสทางการค้าผ่านความร่วมมือทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อให้ไทยเป็นแหล่งดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น” รมช.พาณิชย์ ระบุ
ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในเดือนม.ค.66 การนำเข้ามีมูลค่าสูงสุดในรอบ 23 เดือน หรือเกือบ 2 ปี เนื่องจากราคาน้ำมันนำเข้าเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น เป็น 80.4 ดอลลาร์/บาร์เรล จากในเดือนธ.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 77 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งมูลค่าการนำเข้าน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าการนำเข้าโดยรวม
นอกจากนี้ ในเดือนม.ค.66 ยังมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มทุน และวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น โดยมูลค่านำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ซึ่งคาดว่าจากการนำเข้าทั้งในแง่ปริมาณ และมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมากนี้ จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในระยะถัดไป เนื่องจากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มทุน และวัตถุดิบ จะนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและส่งออกยังต่างประเทศ
คาดส่งออก Q1/66 ส่อติดลบจากปีก่อนฐานสูง มั่นใจ Q2/66 เริ่มฟื้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1 นี้ยังมีแนวโน้มจะติดลบ เป็นเพราะฐานจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับสูง อีกทั้งเชื่อว่าจะมีการเร่งนำเข้าสินค้ามาสต็อกเพื่อเตรียมผลิตและส่งออก โดยคาดว่าการส่งออกจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ และทั้งปี 66 กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกที่ 1-2%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ส่งออก