นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.69 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 34.82 บาท/ดอลลาร์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจของจีนออกมาดีเกินคาด ทำให้มีแรงเทขายดอลลาร์ออกมาเพื่อทำกำไร เนื่องจากก่อนหน้านี้ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าไปมาก
“บาทกลับมาแข็งค่าเร็วมากตามทิศทางค่าเงินหยวน หลังตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาดี ทำให้มีแรงขายดอลลาร์ทำกำไร”
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 34.60 – 34.85 บาท/ดอลลาร์ ช่วงนี้ต้องจับตาดูทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างประเทศ (Flow) ในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร
THAI BAHT FIX 3M (1 มี.ค.) อยู่ที่ระดับ 1.37457% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 1.62055%
*ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 136.14 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 135.82 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0666 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0640 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 35.026 บาท/ดอลลาร์
- สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่คึกคัก “ไทยพาณิชย์” เผยอยู่ระหว่างพิจารณาปล่อยกู้ร่วมกับแบงก์อื่น 3-6 ดีลใหญ่ มูลค่าหลักหมื่นล้านบาท ต่อดีล สะท้อนภาพเศรษฐกิจฟื้นชัด คาดยอดปล่อยกู้โตราว 3% ด้าน “ซีไอเอ็มบีไทย” ชูยุทธศาสตร์ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล เตรียมลงทุนระบบไอทีเพิ่ม หวังยกระดับบริการด้านดิจิทัล ความต้องการสินเชื่อเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากพิษโควิด ซึ่งในช่วงนี้จะเห็นว่า “ภาคธุรกิจ” เริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
- “สุพัฒนพงษ์” ตั้งโจทย์ดึงการลงทุนกลับมาที่ 1 ล้านล้านบาท ลั่นโอกาสไทยเปลี่ยนทิศทางตาม Net Zero ด้าน ปตท.ประกาศชัดปรับสัดส่วนรายได้ 30% จากธุรกิจลดคาร์บอนภายในปี 2573
- สธ.ห่วงสงกรานต์ โควิด-19 แพร่ยอดติดเชื้อกลับมาพุ่ง เหตุคนเดินทางกลับภูมิลำเนา พบญาติผู้ใหญ่ เตือนกลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นซึ่งมีทั้งวัคซีนสำเร็จรูปหรือ LAAB วัคซีนสองสายพันธุ์ ให้เลือกฉีดได้ ได้กระจายวัคซีนไปแล้วทุกจังหวัด รวมถึง กทม.แล้ว
- กกร.ชี้ช่วงเลือกตั้งเอกชนชะลอลงทุนยาว รอโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน กระตุ้นการบริโภคในประเทศ ยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยไม่ถดถอย แม้ส่งออกหดตัว คาดปีนี้ติดลบ 1% เชื่อท่องเที่ยวหนุนจีดีพีโต 3-3.5%
- สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.7 ในเดือนก.พ. จากระดับ 47.4 ในเดือนม.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.0 โดยดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 0.1% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากร่วงลง 0.7% ในเดือนธ.ค.
- ประธานเฟด สาขามินเนอาโพลิส กล่าวว่า เขาเปิดกว้างต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 มี.ค. โดยการแสดงความเห็นของนายแคชแครีสอดคล้องกับความเห็นของนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ซึ่งสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค.
- ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค. และคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุดในกรอบ 5.50-5.75% ในเดือนก.ย. นอกจากนี้ยังคาดว่าเฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.0% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าคาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (1 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในระดับสูงของเยอรมนี ซึ่งบ่งชี้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (1 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 66)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท