ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,037.48 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) เสนอ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ สทบ.ได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวเนื่องจากเล็งเห็นความเดือดร้อนของสมาชิกกองทุนฯ ตลอดจนประชาชนที่อาศัยในหมู่บ้านและชุมชนต้องแบกรับภาระเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ผลผลิตหรือรายได้ลดลง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินโครงการโดยนำโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG เข้ามาขับเคลื่อน
ตามโครงการจะสนับสนุนให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 786 กองทุน ดำเนินการติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจแบบ BCG 5 รูปแบบกิจกรรม ได้แก่
1.เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ แบบกลางแจ้ง/ระบบเปิด เช่น การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์และจัดทำระบบจ่ายน้ำอัตโนมัติด้วยโดรน
2.เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะแบบในร่ม/ระบบปิด เช่น การติดตั้งระบบการใช้น้ำอย่างประหยัดด้วยระบบน้ำหยด
3.เทคโนโลยีผลิตส่งเสริมทางด้านการเกษตรและอาหารครบวงจร เช่น การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดต้นทุนการผลิต และการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน
4.เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงพลังงาน ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือขยะ เช่น การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหมัก/จุลินทรีย์
5.เทคโนโลยีผลิตน้ำดื่มแบบครบวงจร เช่น การใช้ระบบโซล่าเซลล์เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตน้ำดื่ม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สทบ.ประเมินว่าโครงการจะสามารถยกระดับการผลิต การค้าและการบริการในระดับชุมชน และยังเป็นการกระตุ้นการบริโภคและลงทุนของชุมชนจากผลผลิตตามโครงการ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เข้มแข็ง และโครงการนี้จะเป็นการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ในระดับฐานรากที่ต่อเนื่องต่อไป
สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการ สทบ.จะประกาศให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทราบในรายละเอียดต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 66)
Tags: BCG Model, กองทุนหมู่บ้าน, ครม., ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, สทบ., เศรษฐกิจไทย, ไตรศุลี ไตรสรณกุล