ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ ในการพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (พ.ร.ก.อุ้มหาย) หลังจากใช้เวลาพิจารณา เป็นเวลามานานกว่า 3 ชั่วโมง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งขอจบการพิจารณา หลังจากนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และคณะ รวม 100 คนได้เข้าชื่อถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 หรือไม่ ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อและความถูกต้องของคำร้องดังกล่าวแล้วจะได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อไป ดังนั้นจึงขอให้ที่ประชุมรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมก่อน
นายนิโรธ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาจะหน่วงให้ล่าช้า แต่เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องที่ต้องดูแลความเรียบร้อยของหน่วยงานกับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด จึงขอขยายระยะเวลา ซึ่งการประชุมวิปรัฐบาลได้เชิญตำรวจเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงเหตุผลการขยายระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่า หากจะลงมติคว่ำไปเลย ก็จะเดินหน้าลำบาก เพราะผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในชนบทด้วย
ทั้งนี้ หากฝ่ายค้านเรียกร้องให้ลงมติ ตนก็มองว่า แม้สภาฯจะมีอำนาจก็จริง แต่หลายครั้งโหวตแล้วก็มีการตีความในศาลรัฐธรรมนูญในภายหลัง จนสภาฯเกิดความเสียหาย ดังนั้น เพื่อเป็นความรอบคอบและไม่ให้สภาฯเกิดความเสียหาย จึงคิดว่า เรื่องนี้ควรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ออก พ.ร.ก.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งการเข้าชื่อในคำร้องที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย พ.ร.ก. ฉบับนี้น่าจะครบเรียบร้อย และอาจยื่นก่อนหรือระหว่างการประชุมสภาฯ ก็ได้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 173
นายนิโรธ กล่าวอีกว่า คำร้องของวิปรัฐบาลไม่ถือเป็นการยื้อการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกไป แต่เพื่อให้หน่วยงานตาม พ.ร.ก.อุ้มหายเดินหน้าได้ ซึ่งถ้ามองในแง่ร้ายก็บอกว่าเรายื้อ แต่ถ้ามองเป็นกลางและตรงไปตรงมา เราก็เห็นว่า พ.ร.ก. น่าจะไม่ออกโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับความชะงักงันที่เกิดขึ้น ใครต้องรับผิดชอบ นายนิโรธ กล่าวว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะหากคว่ำ พ.ร.ก.คือ ลาออกหรือยุบสภาฯ หรือไม่รับผิดชอบ ไม่ทำอะไรเลยก็ได้ แต่คิดว่า รัฐบาลต้องเลือกยุบสภาฯ เพราะอย่างไร เขาก็เลือกจะยุบสภาฯอยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ประเทศและหน่วยงานเดินหน้าได้ เราจึงควรเลือกทางที่ดีที่สุดให้ประชาชน
ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นตัวแทน ครม.ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลการเสนอ พ.ร.ก.ดังกล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มาตั้งแต่ปี 50 จนสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในปี 65 แต่ได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงความขัดข้องในเรื่องงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ ขาดกำลังบุคลากร และขาดแนวทางปฏิบัติที่มีมาตรฐานซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานให้เกิดความไม่เรียบร้อย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องขอออก พ.ร.ก.เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 22, 23, 24 และ 25 ออกไปเป็นการชั่วคราว 6 เดือน
“ขอเรียนสภาผู้แทนราษฎรว่า การตราพระราชกำหนดนั้น เป็นการขยายเวลากำหนดบังคับใช้มาตรา 22-25 เป็นการชั่วคราว หรือ ประมาณ 7 เดือน ส่วนฐานความผิด การกระทำทรมาน หรือ อุ้มหาย ยังคงมีอยู่ และยังบังคับใช้อย่างเต็มที่ โดยหากเจ้าหน้าที่ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ไม่ได้เว้นการลงโทษแต่อย่างใด รวมถึงปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆก็ได้เร่งขับเคลื่อน เพื่อให้ปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รมว.ยุติธรรม กล่าว
หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยเลื่อนบังคับใช้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ได้ปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.65 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.พ.66 แต่รัฐบาลขอขยายเวลาการบังคับใช้บางมาตราออกไปอีก 7 เดือน คือเริ่มบังคับใช้ 1 ต.ค.66 ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ปรึกษาหารือกันแล้วเห็นตรงกันว่าไม่อนุมัติ แต่เนื่องจากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของสมัยการประชุมแล้ว ถึงแม้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะอนุมัติก็ยังต้องไปผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุที่วุฒิสภาไม่อนุมัติ เรื่องก็ต้องย้อนกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรยืนยันมติอีกครั้ง ดังนั้นนายกรัฐมนตรีต้องออก พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้สามารถพิจารณาได้ทันเวลา กรณีนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน แต่กลับไปอ้างประโยชน์ต่อความปลอดภัยสาธารณะ และยื่นเรื่องมาให้สภาพิจารณาในวันสุดท้าย หลังมีผู้ออกมาแสดงความเห็นว่าหากรัฐบาลไม่ส่งเรื่องให้สภาพิจารณาจะมีการนำเรื่องไปร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบว่ารัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญ
กรณีที่อ้างความไม่พร้อมเรื่องอุปกรณ์ที่ต้องใช้งบประมาณราว 3 พันล้านบาทนั้นส่อทุจริต เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงขนาดนั้น ทั้งที่สามารถดำเนินการจัดหาได้รวดเร็วกว่านี้ และไม่ต้องใช้งบประมาณมากเท่านี้ และในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้แจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทัน 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พ.ร.บ.อุ้มหาย เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้นตนไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้ในบางมาตรา โดยอ้างเรื่องความไม่นั้นพร้อมฟังไม่ขึ้น เพราะในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมายเรื่องนี้ก็ไม่เคยมีหน่วยงานใดคัดค้านเลย แต่ผ่านมาตั้งนานแล้วทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเพิ่งมาของบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่มีการเตรียมอบรมบุคลากรให้พร้อม การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 เพราะไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน แล้วเรื่องนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนไม่สามารถอนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากไม่ได้สัดส่วนที่สอดคล้องกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับหน่วยปฏิบัติ หลังกฎหมายเรื่องนี้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 80 วัน ทำไมรัฐบาลจึงอนุมัติงบประมาณ ล่าช้าจนเหลือเวลาอีกไม่กี่วันที่กฎหมายจะบังคับใช้แล้วทั้งที่รู้ล่วงหน้ามานานแล้ว
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เมื่อสภาได้อนุมัติกฎหมายเรื่องนี้ไปแล้ว รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารต้องมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่การประวิงเวลาการบังคับใช้ออกไป หากสภาอนุมัติเรื่องนี้ก็เท่ากับกลืนน้ำลายตัวเอง ไม่มีประเทศไหนที่เอา พ.ร.ก.มาเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. เป็นเรื่องนี้น่าอดสูที่นายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมาใช้สภาเพื่อลบล้างความผิดพลาดในการทำงานของตัวเองไม่ได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 66)
Tags: นิโรธ สุนทรเลขา, บุคคลสูญหาย, พรรคพลังประชารัฐ, สภาผู้แทนราษฎร