ผลการดำเนินงานปี 65 สถานการณ์ของ บมจ.การบินไทย (THAI) ดีขึ้นตามลำดับ จากธุรกิจการบินฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด โดยเฉพาะการที่จีนเปิดประเทศได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้กลางปี 66 เป็นแรงหนุนให้ธุรกิจพุ่งทะยาน โดยล่าสุด นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู THAI แถลงกำไรก่อนหกัดอกแบี้ย ภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 12 เดือน (ก.พ.65- ม.ค.66) พุ่งทะยานแตะ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ THAI ออกจากแผนฟื้นฟู
อย่างไรก็ดี งบการเงิน THAI ในปี 65 พลิกมีกำไรจากการดำเนินงานแล้ว แต่เมื่อรับรู้ผลขาดทุนของไทยสมายล์ที่ขาดทุนถึง 4,248 ล้านบาท ถ่วงให้งบการเงินรวมของ THAI ขาดทุน 252 ล้านบาท ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่ในแผนฟื้นฟูกิจการจะระบุชัดว่าจะยุและควบรวมไทยสมายล์กลับเข้ามาในการบินไทย เพื่อปิดช่องโหว่ที่จะเป็นรูรั่วใหญ่ที่อาจกระทบต่อผลการดำเนินงานของการบินไทยต่อไป เพราะตั้งแต่แยกตัวตั้งบริษัทเมื่อเดือน ต.ค.56 ไทยสมายล์ก็ประสบผลขาดทุนมาตลอดโดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤตโควิด ปี 63-64 ขาดทุน 3.3 พันล้านบาท และ 3.8 พันล้านบาท ตามลำดับ และหนักสุดในปี 65
นายปิยสวัสดิ์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู THAI ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มสายการบิน “ไทยสมายล์” เมื่อครั้งนั่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ( DD) เล่าว่า จุดกำเนิดของสายการบินไทยสมายล์อยู่ในยุคปี 52-54 ที่ทุกสายการบินระดับพรีเมียม ทั้ง สิงคโปร์แอร์ไลน์ คาเธ่ย์แปซิฟิค ออลนิปปอนแอร์ไลน์ ต้องตั้งสายการบินประหยัดเพื่อแก้เกมสู้กับสายการบิน low cost ที่บูมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่สมัยแรก ๆ ไม่ได้แยกออกเป็นบริษัท แต่บริหารเสมือนเป็นอีกหนึ่งหน่วยธุรกิจ (BU) ทำให้การจัดสรรการใช้เครื่องบินยืดหยุ่น และใช้โค้ด TG เหมือนกัน
แต่ภายหลัง ก็ได้มีการแยกจัดตั้งเป็นบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัดในสมัย DD คนถัดไป แยกใบอนุญาตการบินพลเรือนในชื่อ WE และแยกการบริหารการตลาด การขายตั่วก็ใช้คนละระบบกับการบินไทย ทำให้เชื่อมต่อไม่ได้ เรียกว่าแยกการบริหารชัดเจน ทั้งที่การบินไทยถือหุ้นทั้ง 100% ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังเกิดความขัดแย้งระหว่างการบินไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ และ ไทยสมายล์ จากการวางเส้นทางการบินในประเทศทับซ้อนกัน ไม่ต่างจากคอนเซ็ปต์ที่การบินไทยเคยร่วมทุนในสายการบินนกแอร์ที่จะลงทุน 100% แต่สุดท้าย การบินไทยก็ไม่ได้อำนาจในการบริหารแต่อย่างใด
และครั้งนี้ การบินไทยจะนำไทยสมายล์มารวมการบริหารเหมือนเดิมตอนต้นที่ดำเนินการ เพื่อช่วยลดต้นทุนการบริหาร การขายตั๋วที่เชื่อมต่อกันได้ และยังบริหารจัดการการใช้เครื่องบินให้ได้ประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ Positioning ทางการตลาดของไทยสมายล์ก็วางไว้เหมือนเดิมในการเป็นสายการบินราคาประหยัดที่ให้บริการแบบฟลูเซอร์วิส ส่วนโลโก้ก็ปรับมาใช้ของการบินไทย ซึ่งตัดแค่คำว่า “สมายล์” ออกไป
ที่สำคัญ การยุบรวมไทยสมายล์มาแล้ว การบินไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองผลขาดทุนของไทยสมายล์ ดังนั้นเมื่อปิดบริษัทไทยสมายล์แอร์เวย์ไป ผลขาดทุนสะสม 2 หมื่นล้านบาทก็ไม้ต้องแบกรับอีกต่อไป
ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู THAI กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินการของการบินไทยในปี 65 ออกมาดีกว่าแผนฟื้นฟูที่คาดไว้ว่าจะขาดทุน 9 พันล้านบาท เพราะมีผลขาดทุนเพียง 252 ล้านบาท โดย EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินที่คำนวณจากการใช้ครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hour) ของปี 65 มีกำไรจำนวน 17,241 ล้านบาท พลิกจากปีก่อนซึ่งขาดทุน 2,712 ล้านบาท
ที่เป็นเช่นนี้ นอกจากตลาดการบินดีกว่าคาด ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายพนักงานลดลงไปได้มาก และการบริหารจัดการระบบขายตั๋วโดยสารที่ดีขึ้น ทำให้ราคาตั๋วเฉลี่ยดีขึ้น เป็นไปตามดีมานด์-ซัพพลาย ทำให้มั่นใจว่าปี 66 การบินไทยจะพลิกมีกำไรสุทธิได้ และ EBITDA ใน 12 เดือนย้อนหลังจะแตะ 2 หมื่นล้านบาท
การที่การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ยังมีอีกเงื่อนไข คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินต้องเป็นบวก โดยเมื่อสิ้นปี 65 ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อยติดลบ 71,024 ล้านบาท ซึ่งติดลบลดลงจากสิ้นปี 64 จำนวน 227 ล้านบาท แต่เฉพาะงบของการบินไทยมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ 63,493 ล้านบาท หรือติดลบลดลงจากสิ้นปี 64 จำนวน 3,165 ล้านบาท เหตุผลหลักมาจากกำไรจากการดำเนินงานของบริษัท
แผนถัดไปของการบินไทย คือ การปรับโครงสร้างทุน โดยแผนฟื้นฟูที่แก้ไขเมื่อ 20 ต.ค.65 จากฉบับแรก 15 มิ.ย.64 จะมีการใส่ทุนใหม่ 80,172 ล้านบาท หรือจำนวนทุนจดทะเบียน 31,500 ล้านหุ้น เพิ่มจากปัจจุบันมีส่วนทุน 2,183 ล้านหุ้น ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนของบรรดาเจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้หุ้นกู้ และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ที่จะมีเงินใส่เข้าไป 2.5 หมื่นล้านบาท และขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (PO) จำนวน 9,822 ล้านหุ้น ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาท รวมเป็นเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท และจากเจ้าหนี้รายใหม่ที่จะได้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเข้ามาอีก 1.25 หมื่นล้านบาท ในส่วนกระทรวงการคลัง ทั้งแปลงหนี้เป็นทุนและเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยจะมีเงินเข้ามาไม่น้อยกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท
ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู THAI กล่าวว่า การที่ผลการดำเนินงานของการบินไทยพลิกฟื้นได้เร็ว และปี 66 ก็มั่นใจว่าผลการดำเนินงานจะดีขึ้นกว่าปี 65 ซึ่งมองดูแล้วเชื่อว่าปีนี้จะไม่มี Low season เนื่องจากดีมานด์การเดินทางมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย ที่มียอดจองในเดือนมี.ค.-เม.ย. 66 ดีมาก ขณะที่ราคาน้ำมัน Jet คาดว่าจะทรงตัวที่ 120 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ในแผนฟื้นฟูกิจการคาดการณ์ไว้ที่ 126 เหรียญ/บาร์เรล
ดังนั้น จากสถานการณ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ของการบินไทย ก็จะทำให้แต้มต่อเพิ่มจึ้นสร้างความมั่นใจกับเจ้าหนี้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุน และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ถือหุ้นเดิม (RO) หรือบุคคลในวงจำกัดได้อย่างราบรื่น เชื่อว่าในปี 67 จะเริ่มกระบวนการดังกล่าวแล้ว แผนที่จะออกจากแผนฟื้นฟูในปลายปี 67 และกลับเข้าซื้อขายในตลาดต้นปี 68 คงไม่ไกลเกินเอื้อม จากครั้งเมื่อเข้าฟื้นฟูกิจการในปี 64 แทบยังมองไม่เห็นอนาคต เงินในมือก็มีไม่ถึง 5 พันล้านบาท ต้องการเงินกู้ก้อนใหม่สูงถึง 5 หมื่นล้านบาทแต่ไม่มีเจ้าหนี้รายใดให้กู้ เป็นสถานการณ์ยากลำบากมาก ซึ่งขณะนั้นมองว่ากว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูใช้เวลา 5 ปี หรืออาจจะถึง 7 ปีนับจากปี 64 แต่มาวันนี้เร็วกว่าที่วางไว้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.พ. 66)
Tags: Infographic, THAI, การบินไทย, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, ไทยสมายล์