คณะกรรมการร่วม RCEP ครั้งที่ 3 เร่งติดตามการดำเนินงานตามพันธกรณีความตกลง RCEP ทั้งการปรับโอนพิกัดศุลกากร การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุน การจัดสรรงบประมาณ คาดสมาชิก 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงปีนี้ เดินหน้าหาแนวทางสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจผ่านแผนงาน มุ่งเน้นทั้งการค้าสินค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครั้งที่ 3 ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ.66 เพื่อเร่งปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง RCEP ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 ก.ย.65 ซึ่งคาดว่าสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงในปีนี้
ในการประชุมครั้งนี้ ได้ติดตามการดำเนินการตามพันธกรณีของความตกลง RCEP อาทิ การปรับโอนพิกัดศุลกากรในความตกลงให้เป็น HS 2022 สอดคล้องกับการปรับปรุงพิกัดศุลกากรโลก เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ได้สะดวกมากขึ้น การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุน RCEP ภายใต้สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการภายใต้คณะกรรมการร่วม RCEP ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การเติบโตอย่างยั่งยืน และกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เริ่มการหารือโดยเร็ว เพื่อเป็นเวทีประสานการดำเนินการตามพันธกรณี อาทิ การปรับโอนพิกัดศุลกากรของรายการสินค้าในรายการที่มีกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า การใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบเดียวกัน การได้ประโยชน์จากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ การตรวจปล่อยสินค้าเน่าเสียง่ายภายใน 6 ชั่วโมง ทั้งด้านนโยบาย เทคนิค และการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกต่างๆ
ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการดำเนินโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ผ่านแผนงานที่มุ่งเน้นการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ทั้งนี้ ประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะจีน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ได้เสนอเงินสนับสนุนโครงการความร่วมมือฯ วงเงินรวมกว่า 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เกาหลีใต้ได้เสนอแผนงานโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง RCEP ระหว่างประเทศสมาชิก โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการด้านการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อย เร่งหารือเพื่อสรุปร่างแผนงานโครงการความร่วมมือฯ ให้คณะกรรมการร่วม RCEP พิจารณาต่อไป
ในส่วนของฟิลิปปินส์ ได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการภายใน ก่อนยื่นสัตยาบันสารต่อเลขาธิการอาเซียนต่อไป ซึ่งคาดว่า ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับครบทั้ง 15 ประเทศ ในปีนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นทางเลือกและเพิ่มความสะดวกในการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไปยังประเทศสมาชิก RCEP ได้อย่างเต็มที่
สำหรับในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 65) มีการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อส่งออกไปตลาด RCEP มูลค่า 919.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปเกาหลีใต้มากที่สุด รองลงมา คือ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ สำหรับสินค้าส่งออกที่ขอใช้สิทธิ์ RCEP สูงสุด อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด และเลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.พ. 66)
Tags: RCEP, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล