กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังโรคท้องร่วง โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำ-น้ำแข็งที่สะอาด ปลอดภัย มีเครื่องหมาย อย. เผยหลังปีใหม่พบผู้ป่วยกว่าแสนราย
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีอากาศแปรปรวน บางช่วงฝนตกชุกอากาศเย็น ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัส และโรต้าไวรัส ซึ่งพบเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงรุนแรงได้ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่น
สำหรับสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 ก.พ. 66 พบผู้ป่วยจำนวน 127,902 ราย หรือประชากร 500 ราย จะพบผู้ป่วย 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดอยู่ในกลุ่ม วัยเรียน 2-15 ปี มีจำนวนถึง 49,971 ราย (39.07%) รองลงมา คือ อายุมากกว่า 55 ปี จำนวน 14,680 ราย (11.48%) และ 25-34 ปี จำนวน 14,545 ราย (11.37%) ตามลำดับ
ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 13-22 ก.พ. 66 พบนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน 4 แห่ง จังหวัดชัยภูมิ ป่วยเป็นกลุ่มก้อนกว่า 315 คน จากการรับประทานอาหาร น้ำ น้ำแข็งร่วมกัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว และอาเจียน ทีมสอบสวนโรค ทำการลงพื้นที่สอบสวนโรคเบื้องต้น สำรวจการสุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน เก็บตัวอย่างอาหาร น้ำ น้ำแข็ง อุจจาระผู้ป่วยส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันสาเหตุของเชื้อก่อโรค ตรวจโรงผลิตน้ำแข็งในอำเภอเมือง 5 แห่ง พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคอุจจาระร่วง การสุขาภิบาลอาหาร และสิ่งแวดล้อม
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วง หากถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิตจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
ในส่วนของการรักษาเบื้องต้น ให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) ไม่แนะนำให้ดื่มเกลือแร่สำหรับออกกำลังกาย (ORT) เพราะมีน้ำตาลปริมาณสูง จะดึงเอาน้ำเข้าสู่ทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้น ทำให้ลำไส้บีบตัวและส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียมากขึ้น หากไม่มีสารละลายเกลือแร่ (ORS) สามารถทำได้เองโดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือแกงครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำสะอาด 750 ซีซี จิบทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายอุจจาระและอาเจียน
สำหรับเด็กที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มต่อได้โดยไม่ต้องหยุด นมผสมให้ชงเจือจางลงจากเดิมสลับกับการดื่มสารละลายเกลือแร่ รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น น้ำแกง น้ำซุป หรือข้าวต้ม ไม่แนะนำให้กินยาหยุดถ่ายหรือยาปฏิชีวนะ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด อาเจียนบ่อย ริมฝีปากแห้ง ผิวหนังไม่ยืดหยุ่น ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะไม่ออก ไม่กินอาหาร ไม่กินน้ำ นม สารละลายเกลือแร่หรือกินได้น้อยลง ไข้สูงหรือชัก ซึมลง อ่อนเพลีย ตาลึกโหล หายใจหอบลึก ในเด็กเล็กอาจมีกระหม่อมบุ๋ม ควรรีบไปสถานพยาบาล
อธิบดีกรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัย โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน น้ำสำหรับชงนมต้องต้มให้สุก ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ก่อนเตรียมอาหารหรือชงนมให้เด็ก หลังเข้าห้องน้ำ หลังสัมผัสสิ่งสกปรกหรือสัตว์เลี้ยง ดื่มน้ำ น้ำแข็งที่สะอาด ปลอดภัย มีเครื่องหมาย อย. หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ ของเล่นเด็กอยู่เสมอ เลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วง
สำหรับโรงเรียนหรือสถานศึกษา แนะนำให้เก็บตัวอย่างอาหารทุกมื้อ ระบุ วัน เดือน ปี ที่ปรุงประกอบให้นักเรียนรับประทาน ไว้ในตู้เย็นอย่างน้อย 1 วัน กรณีพบผู้มีอาการอุจจาระร่วง มีตัวอย่างอาหารส่งตรวจเพื่อหาสาเหตุของเชื้อก่อโรคได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.พ. 66)
Tags: กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์, โรคท้องร่วง