นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 ก.พ.66 จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 (พ.ร.ก.อุ้มหาย) ซึ่งมีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว
“เคยมีสมาชิกได้หารือไว้แล้ว เมื่อมีการส่งกฎหมายเข้ามา จึงต้องมีการหารือเพื่อกำหนดเวลา และจำนวนองค์ประชุมว่าพร้อมหรือไม่ ซึ่งได้กำหนดเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์” นายชวน กล่าว
ส่วนเรื่ององค์ประชุมเป็นอำนาจของฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องควบคุมดูแลให้เป็นไปตามที่ต้องการ ส่วนข้อสงสัยว่าสภามีอำนาจในการพิจารณา พ.ร.ก.หรือไม่ จะเป็นประเด็นที่สมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่หากฝ่ายใดไม่เห็นด้วย ก็สามารถเข้าชื่อ 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเสนอต่อประธานสภาให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งก่อนอภิปราย ระหว่างการอภิปราย และหลังจากลงมติไปแล้ว ส่วนจะชะลอด้วยวิธีการอื่นนั้น ไม่สามารถทำได้
“การประชุมวันพรุ่งนี้ มีเพียงวาระเดียว หากองค์ประชุมไม่ครบ ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าไม่ผ่าน ก็คือไม่ผ่าน พ.ร.ก.ก็ไม่มีผลบังคับใช้ ต้องไปใช้ พ.ร.บ.ฉบับที่ประกาศออกมาแล้ว” ประธานสภาฯ ระบุ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงจุดยืนของฝ่ายค้านต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวว่า การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีเหตุความจำเป็น ไม่มีภัยพิบัติ ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หากรัฐบาลจะอ้างเรื่องการจัดหากล้องไม่ทันแล้วต้องขยายเวลาออกไปก่อน ก็สามารถจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษได้ อีกทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะหางบประมาณมาจัดซื้อได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้
ส่วนฝ่ายค้านจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้น ต้องรอดูผลการลงมติของสภาฯ ในวันพรุ่งนี้ก่อน เพราะยังมีเวลาจนกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า จะรอฟังคำชี้แจงของรัฐบาลในการออก พ.ร.ก.มาชะลอการบังคับใช้มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร ซึ่งฝ่ายค้านได้หารือถึงการเข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงเหตุจำเป็นเร่งด่วนในการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว แต่ยังไม่มีข้อสรุป
ทั้งนี้ ฝ่ายค้านจะติดตามการชี้แจง และการอภิปรายเหตุผลของรัฐบาลก่อน หากจะตัดสินใจอย่างใดนั้น น่าจะเกิดขึ้นในวันประชุม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เคยชี้แจงเหตุผลต่อสภาฯ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสม และสะท้อนความขี้เกียจของรัฐบาล ดังนั้นการชี้แจงต่อสภาฯ อีกครั้ง ตนหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะมาชี้แจงด้วยตัวเอง
“ในความเห็นส่วนตัว มองว่าการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว อาจมีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมตัวบุคคล ผู้ควบคุมสามารถข่มขู่ ขู่เข็ญ เพื่อแสวงหาในสิ่งที่มิชอบได้ ซึ่งคาบเกี่ยวในช่วง 6 เดือนที่มีการเลือกตั้ง” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรื่องนี้มี ส.ส.ฝั่งรัฐบาลบางส่วนไม่เห็นด้วยเช่นกัน ดังนั้นต้องรอดูการลงมติ แต่หากสภาฯ ไม่อนุมัติ สิ่งรัฐบาลต้องดำเนินการมี 2 ทาง คือ ยุบสภา หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่รับผิดชอบอะไรเลย เพราะที่ผ่านมา แม้มีเหตุการณ์ที่นายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบ กลับหลีกเลี่ยงการปฏิบัติ
ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้แจ้งกรรมการบริหารแล้วว่าจะมีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก.ฉบับนี้ของรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ก.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
สำหรับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เป็นกฎหมายที่ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ผลักดันร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและร่างกายของประชาชนระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เคยยืนยันต่อ กมธ.ของสภาเองว่า เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ทันแน่นอน
ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดที่ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ต้องบังคับใช้แล้ว การออก พ.ร.ก.เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจึงรับฟังไม่ได้ และชัดเจนอยู่แล้วโดยไม่ต้องถามศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมิได้เป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วน
“พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และผู้กำกับดูแลตำรวจต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ เพราะการอ้างว่าตำรวจไม่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่มีเวลาเตรียมตัวถึง 120 วัน แท้จริงแล้วมันสะท้อนตัวตนของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ต้องการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิและชีวิตร่างกายของประชาชน ซึ่งถ้าพรุ่งนี้ พ.ร.ก.ถูกคว่ำในสภา พล.อ.ประยุทธ์ สมควรต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ทันที เพราะไม่มีความชอบธรรมที่จะรักษาการต่อหลังยุบสภาอีกแล้ว” เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าว
พร้อมระบุว่า ด้วยเหตุนี้ จึงยืนยันว่า ส.ส.ก้าวไกล จะไม่ร่วมยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อย่าเจตนาทำให้สภาล่มในวันพรุ่งนี้ รวมทั้งขอให้ลงมติเพื่อคุ้มครองประชาชน มิใช่เพื่อคุ้มครอง พล.อ.ประยุทธ์
“ขอให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอย่าเขียนด้วยมือแต่ลบด้วยเท้า ควรลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะแสดงตัวให้ชัดเจนว่าจะอยู่ข้างประชาชน หรืออยู่ข้างผู้นำบ้าอำนาจ ขอเตือนว่าอย่าลักไก่ด้วยการชิงยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตัดตอนไม่ให้มีการลงมติกันในสภา เพราะจะแสดงให้ประชาชนเห็นชัดเจนว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความกล้าหาญและซื่อตรงต่อประชาชนพอที่จะลงมติในสิ่งที่ถูกต้อง แต่เลือกจะปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ และกลัวจะเสียคะแนนนิยม หากต้องโหวตเห็นชอบกับ พ.ร.ก.” นายชัยธวัช กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.พ. 66)
Tags: ชลน่าน ศรีแก้ว, ชวน หลีกภัย, ชัยธวัช ตุลาธน, ทวี สอดส่อง, ประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ, ศาลรัฐธรรมนูญ