นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขประเทศกัมพูชา ออกมายืนยันพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกเป็นรายแรกในรอบ 9 ปีของประเทศกัมพูชา ว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 ในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้ป่วยจากระบบการเฝ้าระวังฯ แต่ยังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์จากหลาย ๆ ประเทศอย่างใกล้ชิด และกรมควบคุมโรคได้สั่งการให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ยกระดับการตรวจคัดกรองโรคในผู้เดินทาง โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กักกันโรคปศุสัตว์ ที่ด่านกักกันสัตว์ที่บริเวณพรมแดนระหว่างประเทศที่พบการระบาดของไข้หวัดนก
ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ติดเชื้อรวม 25 ราย (รายแรกในปี 2546 และรายสุดท้ายในปี 2549) มีผู้เสียชีวิต 17 ราย
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดในประเทศกัมพูชาอย่างใกล้ชิด พบข้อมูลว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อสายพันธุ์ H5N1 จำนวน 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 11 ปี อาศัยในจังหวัดไพรแวง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา เริ่มป่วยวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เริ่มแรกมีอาการไข้สูง ไอ และเจ็บคอ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่น มีอาการหายใจติดขัดก่อนถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงพนมเปญ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ขณะที่ข้อมูลย้อนหลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2557 พบผู้ป่วยจากเชื้อ H5N1 ในประเทศกัมพูชา จำนวน 56 ราย มีผู้เสียชีวิต 37 ราย
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ H5N1 ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2546 – 25 พฤศจิกายน 2565 พบผู้ติดเชื้อรวม 868 ราย เสียชีวิต 457 ราย ใน 21 ประเทศ โดยเมื่อปี 2565 พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ H5N1 ทั้งสิ้น 4 ราย (ประเทศสเปน 2 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย และจีน 1 ราย) ทั้งนี้ ในปี 2540 โรคไข้หวัดนก H5N1 มีรายงานการติดต่อสู่คนเป็นครั้งแรกที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า “โรคไข้หวัดนก” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) ที่พบในสัตว์ปีก เชื้อมีหลายสายพันธุ์ และบางสายพันธุ์สามารถติดต่อสู่คนได้ เช่น H5 และ H7 สามารถพบเชื้อได้ในสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีก จากจมูก ปาก ตา และมูลของสัตว์ปีก ระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 2-5 วัน แต่อาจยาวนานได้ถึง 17 วันหลังได้รับเชื้อ
โรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีเชื้อ และจากการสัมผัสอุปกรณ์หรือสิ่งของที่อาจปนเปื้อนเชื้อ โดยส่วนใหญ่หากสัตว์ปีกติดเชื้อไวรัสกลุ่มที่ก่อโรครุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza; HPAI) เช่น เชื้อสายพันธุ์ H5N1 ชนิดรุนแรง อาจทำให้พบสิ่งคัดหลั่งออกมาจำนวนมาก ซึ่งคนสามารถรับเชื้อผ่านทางการหายใจเอาสิ่งคัดหลั่งที่ฟุ้งกระจายเป็นละอองฝอยในอากาศเข้าไป รวมถึงการนำมือที่สัมผัสเชื้อมาลูบจมูก ตา หรือปาก
สำหรับการรายงานการติดต่อระหว่างคนสู่คน พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย และอยู่ในวงจำกัดที่สัมผัสกันอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
สำหรับคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับประชาชน มีดังนี้
1) หากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง
2) หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยและตาย หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
3) ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข
4) หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ให้สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือ
5) รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก
6) ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า จมูก ตา และปาก หรือหยิบจับอาหารรับประทานด้วยมือเปล่าหลังการสัมผัสสัตว์ปีกหรือสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรเน้นการเฝ้าระวังผู้ป่วยทางเดินหายใจ โดยหากผู้ป่วยมีอาการทางเดินหายใจรุนแรง ควรสอบถามประวัติสัมผัสสัตว์ปีกด้วย และกลุ่มก้อนผู้ป่วยทางเดินหายใจ หากสงสัยไข้หวัดนกให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.พ. 66)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, กัมพูชา, ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์, ไข้หวัดนก