ทองคำนิวยอร์กปิดลบ $9.70 เหตุดอลล์แข็ง-บอนด์ยีลด์เพิ่มถ่วงราคา

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (24 ก.พ.) โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่สูงเกินคาด ซึ่งทำให้บรรดานักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 9.70 ดอลลาร์ หรือ 0.53% ปิดที่ 1,817.10 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. และปรับตัวลง 1.8% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 49.60 เซนต์ หรือ 2.33% ปิดที่ 20.81 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 37.60 ดอลลาร์ หรือ 3.98% ปิดที่ 907.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 51.30 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 1,377.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำถูกกดดัน หลังดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้น โดยดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

ดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่สูงเกินคาด

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 5.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือนธ.ค.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%

ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top