นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.ก.อุ้มหาย)
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวภายหลัง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้าพบที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ว่า วันนี้มีการหารือกันในหลายประเด็น และยอมรับว่ามีการหารือในเรื่อง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.ก.อุ้มหาย) เพื่อเลื่อนเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้ส่งสภาฯไปแล้ว มีการบรรจุวาระในสภาฯ เพื่อพิจารณาวันที่ 28 ก.พ.นี้ เพื่อให้ผบ.ตร.เตรียมชี้แจง พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้มีการหารือถึงประเด็นที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ยื่นหนังสือเปิดโปงคดีต่างๆ แต่อย่างใด เนื่องจากตนไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่ได้มีกฎหมายคั่งค้างจนต้องขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เนื่องจากเปิดสมัยวิสามัญไม่ทันแล้ว เพราะจะไปเจอกับการประกาศยุบสภาฯ เกิดขึ้นก่อน
ส่วนความกังวลในการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.อุ้มหาย นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า กังวลว่าองค์ประชุมจะไม่ครบ และกังวลว่าจะล้ม พ.ร.ก.นี้ เพราะถ้าล้ม พ.ร.ก.นี้ก็จะตกไป
“ประเด็นที่กังวล เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เข้าประชุม ส่วนใหญ่ไปหาเสียง และไม่นึกว่าจะมีการประชุมอีกแล้ว แต่ฝ่ายค้านที่เตรียมที่จะล้มกฎหมายนี้อยู่ มาประชุมอย่างพร้อมเพรียง แต่ฝ่ายรัฐบาลอาจจะไม่พร้อมเพรียง” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับสาเหตุที่ต้องการให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.ก.บางมาตราออกไปก่อน เช่น มาตรา 22 บัญญัติว่าการควบคุมตัวผู้ต้องหา หมายถึงจับ และขัง ผู้ที่จับ ไม่ว่าใครก็ตามไม่เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่น ผู้ที่ไปควบคุมตัวจะต้องบันทึกภาพและเสียง ผู้ต้องหาไว้ตลอดเวลาที่ควบคุมตัวจนส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวน
“เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องมีเครื่องมือ ต้องมีการซักซ้อม และที่สำคัญต้องมีระเบียบว่าปฏิบัติอย่างไร แต่วันนี้ยังไม่มีเลย นี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงต้องเลื่อนการบังคับใช้บางมาตรา” นายวิษณุ กล่าว
นอกจากนี้ สาเหตุที่ต้องเลื่อนการบังคับใช้บางมาตรา ออกไปถึงเดือนต.ค.66 ว่า เป็นเพราะคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณในการซื้อกล้องจำนวน 444 ล้านบาท ด้วยระบบ e-bidding ห้ามเจาะจงว่าเป็นบริษัทใด ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน รวมไปถึงต้องมีการออกระเบียบรองรับ จึงเลื่อนออกไปให้บังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่จะมีรัฐบาลใหม่
พร้อมยืนยันว่า มาตราอื่นยังคงบังคับใช้อยู่เหมือนเดิม ห้ามอุ้ม ห้ามฆ่า ห้ามทรมาน ห้ามซ้อม หรือห้ามทำตัวให้หายไป และคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก็ให้เอากฎหมายไปใช้โดยอนุโลม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 66)
Tags: ชวน หลีกภัย, ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์, ประชุมสภา, พ.ร.ก.อุ้มหาย, สภาผู้แทนราษฎร