FSMART ปี 66 ชู GINKA ดาวเด่นดันสัดส่วนรายได้แตะ 10% เร่งผลิต-ติดตั้ง 5 พันจุด

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 65 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจหลักรวม 2,238.6 ล้านบาท กำไร 301.9 ล้านบาท

บริษัทยังคงได้รับกำไรจากการถือหุ้นใน บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัดในสัดส่วน 26.71% จากการที่ตู้เต่าบินขยายอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ สิ้นปีอยู่ 4,942 ตู้ ประกอบกับผลการดำเนินงานในธุรกิจหลักอย่างธุรกิจเติมเงินยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ที่ทยอยกลับมาใช้งานจากสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เช่นเดียวกับธุรกิจตัวแทนธนาคารและการให้สินเชื่อที่ยังมีแนวโน้มการใช้งานที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากจำนวนรายการฝาก-โอนเงิน ผ่านตู้บุญเติมเฉลี่ย 1.5 ล้านรายการต่อเดือน

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 66 บริษัทคาดการณ์งบลงทุนไว้ประมาณ 1,500 ล้านบาทเพื่อขยายทุกช่องทางทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ ทั้งกลุ่มธุรกิจเติมเงิน และรับชำระเงิน, กลุ่มธุรกิจการเงินครบวงจรและตัวแทนธนาคาร (ฝาก ถอน โอนเงิน) รวมถึงกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (Vending Machine) ที่เป็นธุรกิจอนาคต S Curve อย่างตู้เต่าบิน Robotic Barista

และล่าสุดกับ GINKA Charge Point เรือธงใหม่ของบริษัท ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากการเปิดตัวต้นแบบก่อนหน้านี้ และอยู่ระหว่างการผลิตเชิงพาณิชย์ช่วงเดือนเมษายน เพื่อติดตั้งขยายจุดบริการ 5,000 จุดในปีนี้ ตามแผนโมเดลธุรกิจร่วมธุรกิจกับเจ้าของพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ลานเช่าจอดรถ ลานจอดในตลาด ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น เชื่อว่าธุรกิจจะสร้างโอกาสและรายได้ให้กับบริษัทเป็นอย่างดีในระยะยาว

เช่นเดียวกับตู้เต่าบิน Robotic Barista บริหารโดยบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ที่ในปีนี้มีแผนที่จะขยายจุดบริการปีนี้เพิ่มเติมจาก 5,000 ตู้เป็น 10,000 ตู้ คาดว่าจะผลักดันให้ยอดขายเติบโตขึ้นเท่าตัว จากกระแสตอบรับที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วน 26.71% เต็มปี จากปีที่ผ่านรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพียง 7 เดือนเท่านั้น

ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร บริษัทแผนเป็นตัวแทนธนาคารเพิ่มอีก 1 ธนาคารจากปัจจุบัน 8 ธนาคาร พร้อมขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มอีกประมาณ 500-1,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีการปล่อยสินเชื่อไปประมาณ 200-300 ล้านบาท และมียอดการให้สินเชื่อคงค้าง 263 ล้านบาท ซึ่งมีตั้งแต่สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan)ไปจนถึงโปรแกรมซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later) อาทิ ผ่อนโทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยบริษัทยังเน้นปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อลดหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ธุรกิจเติมเงิน และรับชำระเงินที่เป็นธุรกิจหลัก บริษัทเชื่อว่าจะมีมูลค่าใช้บริการผ่านระบบบุญเติมเพิ่มขึ้น 5-10% จากปีก่อน ด้วยฐานลูกค้าขนาดใหญ่ใช้บริการประมาณ 15 ล้านรายใช้งานผ่านช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ผ่านทุกแพลตฟอร์มบริการของบุญเติม พร้อมกิจกรรมทางการตลาดในการสร้างการรับรู้และใช้บริการบุญเติมอย่างสม่ำเสมอ โดยในปีนี้จะเพิ่มตู้บุญเติม Mini ATM ให้ลูกค้าในชุมชนได้ทำธุรกรรมทางการเงินฝาก ถอนเงินได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มเติมบริการใหม่ๆในตู้บุญเติมที่ให้บริการกว่า 130,000 จุด

นอกจากนี้ ยังมองหาช่องทางเพิ่มจุดให้บริการเคาน์เตอร์แคชเชียร์เพื่อบริการรับชำระบิล-เติมเงินเพิ่มเติม จากปัจจุบันร่วมกับพันธมิตรกลุ่มเซ็นทรัลในนาม “CenPay powered by บุญเติม” และเคาน์เตอร์ในเครือบิ๊กซี ทั้งบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า, บิ๊กซี มาร์เก็ต และมินิบิ๊กซี รวมทั้งหมดกว่า 3,000 จุดบริการ นอกจากนี้ ยังมีบริการที่ครบครันทั้งเติมเงิน ชำระเงิน โอนเงิน ไปจนถึงบริการทางด้านสินเชื่อ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่มีกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอด้วย

จากแผนการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งหมด คาดว่าจะส่งเสริมให้บริษัทมีอัตราการเติบโตโดยรวมไม่น้อยกว่า 5-10% และอาจจะส่งผลทำให้สัดส่วนรายได้ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่มธุรกิจเติมเงิน และรับชำระเงิน กลุ่มธุรกิจตัวแทนธนาคารและการให้สินเชื่อ และกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจากปี 65 อยู่ที่ 70 : 27 : 3 จะปรับเป็นที่ประมาณ 55 : 35 : 10 ในปี 66 โดยกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเป็นธุรกิจที่ส่งช่วยส่งเสริมรายได้ที่ดีให้กับบริษัทในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top