นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) คาดรายได้รวมในปี 66 การบินไทยจะมีประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท เติบโต 30% จากปี 65 ที่มีรายได้รวม 1.05 แสนล้านบาท ที่จะมาจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวและจีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดไว้กลางปี 66 ทำให้ดีมานด์การเดินทางสูงขึ้น และคาดว่า EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินจะสูงขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,7241 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 66 การบินไทยคาดมีจำนวนผู้โดยสาร 12 ล้านคน โดยกลับมาทำการบินได้ 70-80% ของปี 62 ที่มีฝูงบิน 81 ลำ และมียอดผู้โดยสาร 19 ล้านคน
ขณะที่ capacity ในปีนี่จะเพิ่มขึ้น จากการขยายฝูงบินเป็น 71 ลำภายในปลายปี 66 จากปีก่อนอยู่ที่ 64 ลำ (รวมไทยสมายล์ 20 ลำ) โดยจะเน้นทำการบินในเส้นทางที่ทำกำไรเป็นหลัก ได้แก่ ทุกเมืองหลักในเส้นทางบินในยุโรป ขณะนี้ปรับมาบิน 1 เที่ยวบิน/วันใน 6 เมือง ส่วนลอนดอนและแฟรงก์เฟิร์ต ทำการบิน 2 เที่ยวบิน/วัน รวมถึงออสเตรเลีย
นอกจากนั้นจะจัดให้บินมากขึ้นในญี่ปุ่น เกาหลี และจีน รวมทั้งเพิ่มการบินไปอินเดียที่มีดีมานด์มาก ซึ่งทำการบินเพิ่มมาเป็น 60 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เข้าใกล้ปี 62 ทำการบิน 65 เที่ยวบิน/สัปดาห์
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI กล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาส 4/65 เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี จำนวนผู้โดยสารสู่ระดับ 2 ล้านคน อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor)ที่ 82.6% และเส้นทางยุโรป-ออสเตรเลียมี Cabin Factor เต็ม 100% ทำให้ราคาตั๋วสูงขึ้นตามดีมานด์ แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้น
ในไตรมาส 4/65 เริ่มมีกำไรจากการดำเนินงาน 8,882 ล้านบาท จากที่ขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,579 ในไตรมาส 4/64 บริษัทมีรายได้รวม 36,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 367% EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน 10,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 630% ทำให้มีกำไรสุทธิ 11,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 178% และกระแสเงินสดสิ้นปี 65 อยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท
ผลประกอบการปี 65 ดีขึ้นทำให้ EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน ใกล้เคียงกับแผนฟื้นฟูกิจการที่วางไว้ 20,000 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง และปัจจุบัน EBITDA ในช่วงเดือน ก.พ.65-ม.ค.66 ทำได้เกิน 20,000 ล้านบาทแล้ว
“ทั้งปี 65 ในไตรมาส 3 และ 4 ดีขึ้นมาก จากต้นปียังไม่ดี และผู้โดยสารทั้งการบินไทยและไทยสมายล์ มีถึง 9 ล้านคน ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของระดับก่อนโควิด โดยรวมสถานการณ์ดีขึ้นมามาก และยังมี EBITDA สูงถึง 2 หมื่นล้าน ทำให้เรามีเงินสดเพิ่ม 3.4 หมื่นล้านบาท”
นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในปี 65 การบินไทยยังมีผลขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้ผลขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ที่บริษัทถือหุ้น 100% โดยในปี 65 มีผลขาดทุน 4,248 ล้านบาท โดยไทยสมายล์มีผลขาดทุนสะสม 20,000 ล้านบาท
สิ้นปี 66 ปิดแบรนด์ไทยสมายล์
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจการบินในกลุ่มการบินไทย โดยยุติบทบาทของบริษัทไทยสมายล์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯอยู่แล้ว ซึ่งระบุชัดว่าในที่สุดแล้วจะเหลือเพียงการบินไทยแบรนด์เดียวเท่านั้น ไม่มีไทยสมายล์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
โดยเรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อแก้ไขแผนธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารที่เป็นทีมเดียว ซึ่งจะใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 2 เดือนน่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนพ.ค.66 จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการเจ้าหนี้เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอรมว.คมนาคมในฐานะที่กำกับดูแลกิจการการบินพลเรือน เพื่อพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงแผนธุรกิจ ก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.) คาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะสามารถบริหารงานที่เป็นทีมเดียวกันได้
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลจะไม่กระทบต่อแผนการปรับปรุงธุรกิจของการบินไทย และยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไม่กระทบต่อผู้โดยสารที่ใช้ของบริการของสายการบินไทยสมายล์อยู่แล้วด้วย
นายชาย กล่าวเสริมว่า เมื่อแผนการปรับปรุงธุรกิจดังกล่าวได้รับความเห็นชอบแล้วการบริหารไทยสมายล์จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมเมื่อครั้งเริ่มต้นมีไทยสมายล์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการบินไทยไม่ได้มีการแยกการบริหาร ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารทรัพย์สินและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินมากขึ้นกว่าเดิมจากปัจจุบันที่ไทยสมายล์บินอยู่ 9 ชั่วโมงต่อวันจะเพิ่มเป็น 12-13 ชั่วโมงต่อวันได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ประมาณ 30% และจะส่งผลให้การดำเนินงานในปี 66 กลับมาเป็นบวกไม่ขาดทุน
นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ THAI กล่าวว่า เมื่อเหลือแบรด์เดียวแล้วการบินไทยจะสามารถบริหารจัดการเครื่องบินได้ง่าย โดยนำเครื่องบินลำตัวแคบ A320 ของไทยสมายล์ไปให้บริการบินในบางเส้นทางที่เหมาะสมได้ เช่น อินเดีย จีน สิงคโปร์ เป็นต้น.ที่สามารถมำการบินในช่วงกลางคืนได้
ปรับโครงสร้างทุนให้เสร็จปี 67 ก่อนกลับมาเทรดต้นปี 68
นายชาย กล่าวว่า จากที่บริษัทมีกระแสเงินสดจำนวนมากถึง 4 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน และแนวโน้มผลประกอบการจะดีขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการใช้เงินกู้ก้อนใหม่ที่วางไว้ 2.5 หมื่นล้านบาทลดลง โดยบริษัทต้องการให้เจ้าหนี้ใหม่มาใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งจะช่วยให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกเร็วขึ้น คาดว่าจะตัดสินใจได้ภายในกลางปีนี้
ขณะที่การปรับโครงสร้างทุน ทั้งการแปลงหนี้เป็นทุน การขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมคาดว่าจะสามารถดำเนินการครึ่งหลังปี 67 หลังจากคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทุนในกลางปีนี้ โดยมี บล.เกียรตินาคินภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะใช้สิทธิเต็มที่จะแปลงหนี้เป็นทุนและซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยหลังจากปรับโครงสร้างทุนใหม่ กระทรวงการคลังจะถือหุ้น 44% ก็จะทำให้การบินไทยไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป เมื่อปรับโครงสร้างทุนแล้วก็จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก จากนั้นออกจากแผนฟื้นฟู ก็คาดว่าหุ้น THAI จะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ตามเดิมในต้นปี 68
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 66)
Tags: THAI, การบินไทย, ชาย เอี่ยมศิริ, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, หุ้นไทย, ไทยสมายล์