บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) ปี 66 พร้อมกลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง ลุ้นยอดปริมาณจราจรบนโทลเวย์เข้าใกล้จุดพีคในปี 62 จัดงบ 400 ล้านบาทหนุนความแข็งแกร่งโดดชิงงาน PPP 3 โครงการใหญ่ เล็งเป้าหลัก “มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุขช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5) ต่อยอดด่วนดอนเมืองโทลเวย์ พร้อมขยับขยายเข้าสู่ธุรกิจบริหารพื้นที่พักริมทาง (Rest Area) และบริการซ่อมบำรุงทางด่วนที่ดึงพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นเสริมความชำนาญเพิ่มช่องทางรายได้เข้าบริษัท ประกาศความมั่นใจจ่ายปันผลงาม
นายศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ DMT เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ผลประกอบการในปี 66 จะกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดในปี 62 ที่มีปริมาณจราจรบนทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์สูงถึง 150,000 คัน/วัน โดยคาดการณ์ไว้ราว 110,000-120,000 คัน/วัน ควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุนอย่างดี เพื่อผลักดันกำไรให้กลับไปใกล้เคียงปี 62 และจะกลับมาจ่ายเงินปันผลได้ดีเหมือนเดิม
ในปี 62 DMT มีรายได้ค่าผ่านทาง 2.8 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 1,159 ล้านบาท แต่หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด ทำให้การเดินทางลดลงอย่างมากในปี 63-64 โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ กดดันผลประกอบการ รายได้ค่าผ่านทางลดลงเหลือ 2.05 พันล้านบาท และ 1.2 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนกำไรสุทธิ 791 ล้านบาท และ 404 ล้านบาท ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในปี 65 เมื่อภาครัฐไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และไตรมาส 3/65 กลับมาเปิดประเทศ ทำให้มีปริมาณการเดินทางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้งวด 9 เดือนของปี 65 มีรายได้ค่าผ่านทาง 1.28 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 544.90 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
นายศักดิ์ดา กล่าวว่า ช่วงปี 65 ต่อเนื่องปี 66 ก็เห็นกิจกรรมการเดินทางสูงขึ้นตามลำดับ จึงคาดว่าในปี 66 มีผลประกอบการกลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด ประกอบกับกระบวนการจัดการภายในได้นำประสบการณ์ในช่วงโควิดมาปรับใช้เป็นแนวทางเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานและจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพให้ได้ เพราะฉะนั้นในปี 66 เรามองว่าปริมาณจราจรที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง และด้วยการควบคุมต้นทุน กำไรและการจ่ายเงินปันผลจะกลับไปสูสีกับปี 62 และผลประกอบการในปี 67-68 ก็มองว่าเติบโตต่อไปได้อีก
“เรามั่นใจในปี 66 ว่าผลประกอบการจะกลับมาใกลัเคียงปี 62 แม้ว่าปริมาณจราจรยังอาจจะยังไม่กลับมาเท่าปี 62 เต็ม 100% ส่วนของเราประมาณการว่าจะมีปริมาณจราจร 110,000-120,000 คันต่อวัน แต่ด้วยการจัดการต้นทุนของเราก็จะทำให้เรามั่นใจว่าผลประกอบการจะกลับมาใกล้เคียงในปี 62 และเรื่องเงินปันผลในอดีตที่ผ่านมาก่อนโควิดเราจ่ายเฉลี่ย 1.00 บาท/หุ้น ซึ่งในช่วงโควิดเราจ่ายอยู่เกือบ 50 สตางค์”
“ผลประกอบการเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วในช่วงโควิด เราไม่มีหนี้ หนี้เท่ากับศูนย์ และมีการจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง ให้นักลงทุนมั่นใจเรา ไม่ว่าสถานการณ์อย่างไร เราสามารถบริหารทุกสถานการณ์ เงินปันผลยังเซ็กซี่ เพื่อให้นักลงทุนหุ้นเราต่อเนื่อง มาจากตัวผลประกอบการ ถ้าคิดจากราคาช่วงนี้ อัตราเงินปันผลอยู่ที่ 4-5% ถ้ามีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง ปีนี้ปีหน้าคาดว่า Didend yield จะเกิน 5%”
อนึ่ง DMT เป็นผู้บริหารโครงการสัมปทานทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดงจนถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยอายุสัมปทานสิ้นสุดวันที่ 11 ก.ย.2577 หรือเหลือเวลา 12 ปี
นายศักดิ์ดา กล่าวว่า บริษัทมีโอกาสเสนอตัวเพื่อบริหารสัญญาสัมปทานต่อเนื่องกับกรมทางหลวง ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทาน ก่อนหมดอายุ 5 ปี เป็นไปตามมาตรา 49 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 62 ที่หน่วยงานเจ้าของหน่วยงานสามารถศึกษาเปรียบเทียบข้อเสนอของผู่ได้รับสัญญาสัมปทาน มองว่าบริษัทยังมีโอกาสเสนอตัวในการยื่นข้อเสนอในแนวทางที่ภาครัฐได้ประโยชน์ โดยบริษัทดำเนินการให้อยู่ในมาตรฐานระดับสากลหลายด้าน
นายศักดิ์ดา กล่าวว่า บริษัทเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านออกแบบก่อสร้าง บำรุงรักษา รวมถึงมีประสบการณ์บริหารทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์มาแล้ว จึงวางแผนรับงานภาครัฐที่คาดว่านับจากนี้ไป 20 ปีจะมีโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ออกมามากกว่า 20 โครงการ ระยะทางก่อสร้างใหม่รวมกว่า 6 พันกิโลเมตร
เฉพาะปีนี้ภาครัฐจะมีโครงการใหญ่ 3 โครงการเป้าหมายที่บริษัทจะเข้าประมูล ได้แก่
1.โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 4 กม. มูลค่า 14,177 ล้านบาท ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอวันที่ 7 เม.ย.นี้ DMT จะเข้าร่วมกับผู้รับเหมาใหญ่ระดับ Top 5 ที่จะเป็น Lead ยื่นข้อเสนอครั้งนี้ กำหนดเปิดซอง 28 เม.ย.66 เริ่มก่อสร้างปี 67-70 เปิดให้บริการปี 71
“โครงการนี้เป็นโครงการทางพิเศษสายต่างจังหวัด บริษัทไซส์ไม่ใหญ่มากจะมีความได้เปรียบมากกว่า ซึ่งบริษัทเราไซส์ไม่ใหญ่ ก็เป็นโอกาส”นายศักดิ์ดา กล่าว
2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ระยะทาง 24.7 กม. มูลค่า 45,730 ล้านบาท เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost ระยะเวลาสัญญา 32 ปี (ก่อสร้าง 2 ปี และ O&M 30 ปี) คาดว่าจะเปิดคัดเลือกเอกชนกลางปี 66
นายศีกดิ์ดา กล่าวว่า บริษัทมีความถนัดงาน O&M มีประสบการณ์ในการติดตั้งระบบ Traffic Management, ระบบ Toll collection system โดยได้รับการรับรองจากกรมทางหลวงเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ระบบ Traffic Management ก็มีระบบ AI ทำให้การบริหารมีความฉลาด และทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วน ระบบ Toll collection system ของเราก็รองรับระบบการเก็บค่าผ่านทาง M-Pass และ Easy Pass มีการทดลองทดสอบที่ด่านดินแดง ดังนั้นด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งสองระบบ ทำให้เราได้เปรียบ
3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. มูลค่า 39,956 ล้านบาท โดยโครงการนี้ DMT ได้เปรียบเชิงพื้นที่เนื่องจากเป็นเส้นทางต่อเนื่องจากสัมปทานของ DMT
“เราเชี่ยวชาญด้านพื้นที่ เราอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว เหมือนต่อระเบียงบ้านออกไป เราบริการโทลเวย์มา 30 ปี เรามีการจัดการต้นทุนดีมากในช่วงโควิด ในเส้นทาง M5 เราได้เปรียบที่สุด เพราะฉะนั้นเราก็มองว่าเรามี potential มีโอกาสมากในโครงการนี้ คาดว่าปลายปี 66 จะเปิดประมูล จากเดิมจะเปิดประมูลปลายปี 65”
ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งงบลงทุน ปีนี้ 440 ล้านบาทเพื่อรองรับงานโครงการที่เข้าประมูล 3 โครงการ ซึ่งก็ต้องกู้เงินสถาบันการเงินเข้ามา
นายศักดิ์ดา กล่าวว่า บริษัทยังเห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจการบริหารพื้นที่พักริมทาง โดยตามแผนของกรมทางหลวง เตรียมเปิดประมูลโครงการศูนย์บริการหรือที่พักริมทาง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หลายเส้นทาง ได้แก่ ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา พื้นที่ฝั่งละ 59 ไร่ วงเงินลงทุน 1,615.57 ล้านบาท และ สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง พื้นที่ฝั่งละ 38 ไร่ วงเงินลงทุน 766.45 ล้านบาท บนถนนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (M7) สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด
โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 3,270 ล้านบาท ประกอบด้วยที่พักริมทาง 8 ตำแหน่ง และ ที่พักริมทาง บนมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินลงทุน 2,355 ล้านบาท ประกอบด้วยที่พักริมทาง 3 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ DMT ยังสนใจบริหาร Property Management จะเป็นการนำพื้นที่ที่เป็น Strategic Location ลักษณะคล้าย Rest Area และมองว่าการใช้ระบบไอที การจัดการพื้นที่ การบริหารสัญญา แนวคิดธุรกิจใหม่ๆ เอาไปพัฒนาพื้นที่ โดยระหว่างนี้บริษัทหาดู Prime Location 1 แห่ง และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ
“กำลังดูแนวทางอาจหา Prime Location เราต่อยอดจากการให้บริการ Rest Area ดูโลเคชั่นที่มีความเป็นไปได้สูง ขึ้นกับพื้นที่ ตอนนี้ยังไม่ได้เลือกพื้นที่ไหน โดยมองว่าจะทำเป็นลักษณะ Mixed use , Co-working space ตอบสนองคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ใช่ Smart City” นายศักดิ์ดา กล่าว
นายศักดิ์ดา ยังกล่าวว่า บริษัทได้ร่วมมือกับ HANSHIN EXPRESSWAY COMPANY LIMITED (HEX) จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัททางด่วนในโอซาก้า มีประสบการณ์กว่า 50 ปี เพื่อต่อยอดทางธุรกิจซ่อมบำรุงรักษาทางด่วน เพราะทั้งทางด่วน มอเตอร์เวย์ สะพานในประเทศไทยมีอายุการใช้งานนานกว่า 30 ปีแล้ว ต้องซ่อมบำรุงมากขึ้น จึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะจับมือกับพันธมิตรญี่ปุ่นเข้ามาขยายงานประเภทนี้ โดยได้เซ็น MOU กันแล้ว และระหว่างนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกัน คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้เร็วๆนี้
“DMT ณ ตอนนี้ เป็นหุ้นปันผล และหุ้นเติบโต (Growth Stock) ในอนาคตมีโครงการประมูลได้ ต่อยอดธุรกิจ และมีการลงทุนในธุรกิจอื่นในอนาคตอันใกล้จะเป็นผลบวกต่อนักลงทุน” นายศักดิ์ดา กล่าวทิ้งท้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 66)
Tags: DMT, INTERVIEW, ทางยกระดับดอนเมือง, หุ้นไทย