นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยขยายธุรกิจในต่างประเทศ และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็วภายใต้สถานการณ์โลกที่ท้าทายและยังอยู่ในสภาวะเพิ่งฟื้นตัว โดยในปี 65 ธนาคารสามารถส่งมอบรายได้สุทธิ (Net Total Income) ให้ธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 % และปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าท้องถิ่นในต่างประเทศถึง 2.1 ล้านรายทั่วภูมิภาค
สำหรับปี 66 ธนาคารจะขยายธุรกิจในตลาด AEC+3 อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 (A Regional Bank of Choice) ด้วยการเดินหน้ากลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 ด้านประกอบด้วย 1. การรุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ 2. การขยายฐานลูกค้าที่มุ่งเน้นการใช้บริการในช่องทางดิจิทัล ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร เพื่อต่อยอดสู่การเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค และ 3. การพัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เข้าถึงบริการของธนาคารได้จำกัด ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการให้สินเชื่อดิจิทัลด้วยข้อมูลทางเลือก
ขณะเดียวกันก็มุ่งหน้าสร้างพื้นฐานของธนาคารให้แข็งแกร่ง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจใน AEC+3 มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับการสร้างธนาคารกสิกรไทยให้เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือในแต่ละประเทศทั่วภูมิภาค ด้วยการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรด้านไอทีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการและประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเชื่อมต่อกับพันธมิตรผู้ให้บริการทางการเงินในท้องถิ่น ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้าง Ecosystem เพื่อส่งมอบบริการทางการเงินที่จะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงเงินทุนเพื่อการดำเนินชีวิตหรือทำธุรกิจได้มากขึ้นในวงกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธนาคารกสิกรไทยมีความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ตามแนวคิดการเป็น Beyond Banking ของธนาคารในระดับภูมิภาค
นายชัช เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สำหรับเป้าหมายและกลยุทธ์การเติบโตของธนาคารกสิกรไทย ในปี 66 ซึ่งเป็นปีแห่งโอกาสในการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน ธนาคารกสิกรไทยจึงขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 (A Regional Bank of Choice) อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นขยายธุรกิจในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และสปป.ลาว ด้วยยุทธศาสตร์การเงินผ่านดิจิทัลแบงก์กิ้ง รวมทั้งบริการที่มากกว่าบริการธนาคาร (Beyond Banking) จากการประสานศักยภาพทางเทคโนโลยีและพันธมิตร เพื่อการพัฒนาบริการที่จะช่วยให้ลูกค้าในภูมิภาคนี้มีชีวิตที่ดี พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค ธนาคารกสิกรไทยได้กำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายสำคัญในประเทศยุทธศาสตร์ ดังนี้
การดำเนินธุรกิจยังคงมุ่งเน้นไปที่ประเทศจีน และ AEC โดยในประเทศจีน ธนาคารกสิกรไทยในฐานะธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน มุ่งมั่นที่จะส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าด้วยแนวคิด “Better Me และ Better SMEs” ด้วยการช่วยให้ลูกค้าท้องถิ่นในจีน เข้าถึงสินเชื่อเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาชีวิตและธุรกิจ สำหรับการดูแลลูกค้าท้องถิ่นในประเทศกลุ่ม AEC ทั้งใน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ธนาคารจะมุ่งเน้นการพัฒนาบริการทางการเงินบนดิจิทัล (Digital Financial Product & Service) ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าบุคคลได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการธนาคารได้มากขึ้น นอกจากนี้ ในมุมการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจในภูมิภาค ธนาคารจะเพิ่มการเชื่อมต่อเครือข่ายลูกค้าธุรกิจระหว่าง ไทย จีน และ AEC ให้มากยิ่งขึ้น (AEC Connectivity) เพื่อสร้าง Cross Border Value Chain ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถต่อยอดโอกาสทางธุรกิจได้
สำหรับประเทศเวียดนาม เป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์สำคัญ ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตถึง 8.02% ในปี 65 เป็นการขยายตัวที่เร็วที่สุดในรอบ 25 ปี โดยธนาคารกสิกรไทยได้เข้าไปให้บริการในเวียดนาม ด้วยการสร้าง Digital Lifestyle Solution ผ่านการใช้งาน K PLUS Vietnam เป็นแกนหลัก ซึ่งจากการให้บริการตั้งแต่เดือนมี.ค. 64 จนถึงปัจจุบันในเดือนก.พ. 65 มีผู้ใช้งานถึง 400,000 ราย นอกจากนี้ยังเพิ่มการขยายฐานพันธมิตรท้องถิ่น ผ่านการลงทุนของบริษัท KVision ที่เข้าไปลงทุนในบริษัทดาวรุ่งที่เวียดนามในหลากหลายธุรกิจ อาทิ Seedcom กลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของเวียดนาม เพื่อขยายบริการด้านการเงินและ Selly สตาร์ทอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเซียลคอมเมิร์ซ เป็นต้น โดยธนาคารจะเดินหน้าพัฒนาเพื่อไปสู่การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ (Transactional Ecosystem) ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่มในเวียดนาม ทั้งกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัทขนาดกลาง กลุ่มค้าปลีก และลูกค้ารายย่อย ตั้งเป้าหมายในปี 66 จะมีลูกค้าบุคคลเวียดนาม 1.3 ล้านราย และตั้งเป้าจะเติบโตเป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก (Top 20 Bank in Asset Size) ในประเทศเวียดนาม ภายในปี 70
นอกจากนี้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นอีกประเทศที่มีศักยภาพสูง ด้วยจำนวนประชากร 270 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ธนาคารกสิกรไทยจึงเดินหน้าการทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย โดยปลายปี 2565 ธนาคารได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยนเป็น 67.5 % ส่งผลให้ธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจในการควบคุม (Controlling Shareholder) ในธนาคารแมสเปี้ยน โดยการดำเนินงานต่อจากนี้ ธนาคารจะเน้นการทำ Transformation โดยนำประสบการณ์ ความพร้อม และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจธนาคารที่มีมายาวนาน ทั้งธนาคารแมสเปี้ยนที่เชี่ยวชาญเรื่องความต้องการของคนในท้องถิ่น และธนาคารกสิกรไทยที่มีความชำนาญเรื่องบริการด้านดิจิทัลแบงกิ้ง มาประยุกต์ ต่อยอด และพัฒนาบริการ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ธนาคารแมสเปี้ยนเติบโตเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดใน East Java และพร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะยาวต่อไป ผ่านการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate) กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (Commercial) และกลุ่มลูกค้ารายย่อย (Retail) เพื่อเป็น 1 ใน 20 ธนาคาร ที่ปล่อยสินเชื่อมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซียในปี 70
ธนาคารกสิกรไทยได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ด้วยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยและความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมทางการเงินของ KASIKORN Business Technology Group (KBTG) พัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการทั้งในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อตอกย้ำถึงยุทธศาสตร์ในการบริการที่มากกว่าแค่ธนาคาร (Beyond Banking) แห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการทำงานของทีมงานในทุกประเทศเพื่อผลักดันองค์กรให้เป็นพื้นที่แห่งการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด (World of Borderless Growth) สำหรับคนทำงานอย่างแท้จริง ด้วยการสนับสนุนทรัพยากรและรูปแบบการดำเนินงานให้กับทีมงาน มุ่งไปสู่เป้าหมายที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและพร้อมรับความท้าทายในระดับภูมิภาค โดยธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้าหมายปี 66 ธนาคารจะมียอดรายได้จากธุรกิจต่างประเทศเป็น 4% ของรายได้สุทธิ (เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.5% ในปี 65) และเดินหน้าสู่การเป็น 1 ใน 20 ธนาคารที่ดีที่สุดในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ภายในปี 70
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 66)
Tags: KBANK, ชัช เหลืองอาภา, ธนาคารกสิกรไทย, ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ