PJW ลั่นปี 66 เทิร์นอะราวด์รายได้โต 10% จีนเปิดประเทศ-นิวโมเดลเข้าดันยอดขายทะลัก

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 66 บริษัทคาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากปีก่อนโดยตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไว้ที่ 10% เนื่องจากภาครัฐเดินหน้านโยบายเปิดเมืองเต็มรูปแบบรวมถึงประเทศจีนเปิดประเทศได้เร็ว ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้สินค้าหลักของบริษัทในกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งน้ำมันหล่อลื่นและนมเปรี้ยว รวมถึงบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคอื่นๆ กลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย

นอกจากนี้ จากปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปที่ขาดแคลนเริ่มคลี่คลายส่งผลให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์พลาสติกมีความต้องการเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทได้มีงานโมเดลรถยนต์รุ่นใหม่กับลูกค้าผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายชิ้นส่วนพลาสติกของอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นที่เป็นปัจจัยบวกคือแนวโน้มต้นทุนราคาวัตถุดิบ ค่าพลังงาน เริ่มทยอยปรับตัวลงต่อเนื่องและอานิสงฆ์ของค่าเงินบาทที่มีความเสถียรภาพมากขึ้น

“บริษัทฯยังคงเดินหน้าที่จะเพิ่มช่องทางสร้างรายได้จากการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้าง New S-curve ผลักดันการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยอยู่ระหว่างเพิ่มสายการผลิตในส่วนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ คาดจะเริ่มผลิตได้ภายในปีนี้ รวมทั้งยังคงเปิดโอกาสในการศึกษาและหา Synergy ใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตรที่มีศักยภาพโดยเฉพาะในด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งจะเป็นอีกธุรกิจที่จะสนับสนุนการเติบโตได้อย่างแน่นอน”

นายวิวรรธน์กล่าว

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในงวดปี 65 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 3,361 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 274 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวมเท่ากับ 3,087 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 83.5 ล้านบาท ลดลงจาก 169.47 ล้านบาทในปี 64

ปัจจัยที่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเกิดจากยอดขายอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในภาพรวมที่เติบโตขึ้นจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวรวมถึงมีรายได้จากงานบริการของบริษัทย่อย มาสเตอร์ลอนดรี้ ประกอบกับราคาขายทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามราคาเม็ดพลาสติก

ขณะที่กำไรลดลง เนื่องจาก มีการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่องที่เมืองเจียงซูและเมืองเทียนจิน ประเทศจีนจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องหยุดผลิต แต่ปัจจุบันเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติรวมทั้งได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้าและแก๊สหุงตัม รวมถึงค่าแรง ค่าขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วทำให้ไม่สามารถปรับราคาได้ทันส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 66)

Tags: , , ,
Back to Top