สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ (22 ก.พ.) โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2.41 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 73.95 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2566
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2.45 ดอลลาร์ หรือ 3% ปิดที่ 80.60 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัท PRICE Futures Group กล่าวว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงติดต่อกัน 6 วันทำการ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2565 เนื่องจากตลาดกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลงด้วย โดยล่าสุดรายงานการประชุมเฟดระบุว่า กรรมการเฟดต่างก็สนับสนุนให้เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของเฟด และตลาดแรงงานยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวมาก ด้วยเหตุนี้เฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางขาลงจนแตะระดับเป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของ S&P Global Commodity Insights คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. ขณะเดียวกันคาดว่าสต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 400,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นจะลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 66)
Tags: น้ำมัน WTI, น้ำมันดิบ, ราคาน้ำมัน