ยิ่งใกล้วันครบรอบ 1 ปีมากเท่าใด ไฟสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียได้ออกมาแถลงนโยบายประจำปี (State of the Nation Address) ต่อสมัชชาแห่งชาติด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวว่า รัสเซียจะยังคงเดินหน้าทำสงครามในยูเครนต่อไป และกล่าวหาว่าสหรัฐและพันธมิตรจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เป็นฝ่ายที่กระพือให้ความขัดแย้งลุกลามออกไป อีกทั้งยังประกาศกร้าวว่า ไม่มีทางที่ชาติตะวันตกจะเอาชนะรัสเซียได้ และรัสเซียจะไม่มีวันยอมจำนนต่อความพยายามในการแบ่งแยกสังคมของรัสเซีย
In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาทุกท่านกลับไปย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญในสงคราม รวมถึงสอดส่องท่าทีและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของบรรดาชาติตะวันตกซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของยูเครนในสงครามครั้งนี้
*ย้อนรอยสงคราม
นับตั้งแต่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ. 2565 ความขัดแย้งก็ยิ่งร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ แม้มีทีท่าว่าความร้อนแรงของการสู้รบได้ผ่อนคลายลงมาบ้าง หลังจากเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 รัสเซียได้ยินยอมทำข้อตกลงกับยูเครน โดยมีตุรกีเป็นคนกลางเพื่อเปิดทางให้ยูเครนสามารถขนส่งธัญพืชผ่านทางทะเลดำได้ เพื่อบรรเทาปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารของโลก แต่ดูเหมือนว่า ไฟสงครามก็ยังไม่ยอมดับลงง่าย ๆ
ต่อมาในวันที่ 6 ก.ย. กองกำลังยูเครนได้เปิดม่านปฏิบัติการโต้ตอบฉับพลันขึ้นที่แคว้นคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ส่งผลให้รัสเซียที่ยึดครองดินแดนดังกล่าวมานานหลายเดือนต้องถอนกำลังออกไป ซึ่งนับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของยูเครนในการชิงดินแดนคืน ก่อนที่ต่อมา รัสเซียจะประกาศระดมกำลังพลบางส่วนเพิ่มเติมราว 300,000 นาย พร้อมทั้งอ้างผลการทำประชามติซึ่งจัดขึ้นในแคว้นทั้ง 4 ของยูเครนอันได้แก่ แคว้นโดเนตสก์, ลูฮันสก์, เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย เพื่อผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ก.ย.
แต่ทว่าภายหลังการทำประชามติดังกล่าวได้เกิดการก่อวินาศกรรมสะพานเคิร์ช ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมดินแดนระหว่างรัสเซียและไครเมียขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 8 ต.ค. แม้ยูเครนไม่ได้ออกมายอมรับ แต่รัสเซียกล่าวโทษว่า เป็นฝีมือของหน่วยข่าวกรองยูเครนและตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธปูพรมถล่มใส่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่าง ๆ ของยูเครนเรื่อยมา ส่งผลให้ยูเครนประสบปัญหาไฟฟ้าดับทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากชาติตะวันตก ทำให้ยูเครนระดมกำลังตอบโต้ในศึกชิงดินแดนแคว้นเคอร์ชอนจนทำให้รัสเซียต้องประกาศถอนกำลังออกไปเมื่อเดือนพ.ย. ถึงกระนั้น การปูพรมโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนต.ค.ของรัสเซียก็ยังคงส่งผลกระทบต่อยูเครนอยู่ไม่น้อย ทำให้ยูเครนต้องเรียกร้องขอการสนับสนุนด้านระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศจากนานาชาติอย่างเร่งด่วน
ด้วยเหตุนี้ บรรดาชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐจึงได้ร่วมกันส่งมอบระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ รวมถึงรถถังและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่ยูเครนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนยังคงเรียกร้องให้ทำการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้รวดเร็วมากกว่านี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากจากการโจมตีอย่างต่อเนื่องของรัสเซียในฝั่งตะวันออกของภูมิภาคโดเนตสก์
ปัจจุบัน สถานการณ์ระหว่างสองประเทศยังคงตึงเครียด โดยนายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า การเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากผู้นำยูเครนไม่มีความสนใจที่จะเข้าสู่โต๊ะเจรจา ขณะที่ยูเครนกำลังแสวงหาอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับศึกใหญ่จากรัสเซีย โดยมีการคาดการณ์กันว่าจะเริ่มในฤดูใบไม้ผลิ
*หรือมิตรจะไม่แท้ และศัตรูจะไม่ถาวร
สหรัฐยังคงเป็นผู้สนับสนุนรายสำคัญของยูเครนมาโดยตลอด โดยปธน.โจ ไบเดนได้ประกาศจุดยืนสนับสนุนยูเครนอย่างชัดเจนในการเยือนโปแลนด์เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 โดยกล่าวว่า “รัสเซียจะไม่มีทางชนะยูเครน ไม่อย่างแน่นอน” ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์เอ็นพีอาร์ (NPR) ระบุว่า นับตั้งแต่สงครามเปิดฉากขึ้น สหรัฐได้ให้การสนับสนุนแก่ยูเครนทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจรวมมูลค่ากว่า 1.12 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งด้านการวางแผนต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ สหรัฐยังมีแผนการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่โดยมุ่งเป้าไปที่ภาคกลาโหมและพลังงาน, สถาบันการเงิน และบุคคลสำคัญหลายรายของรัสเซีย ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) เองก็เสนอให้ออกมาตรการคว่ำบาตรหน่วยงานของอิหร่านที่จัดหาโดรน ตลอดจนยุทธปัจจัย, เทคโนโลยี, ชิ้นส่วนประกอบ, ยานพาหนะหนัก, อิเล็กทรอนิกส์ และแร่หายากให้กับรัสเซียด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจากเหล่าพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดของยูเครนดูเหมือนมีขีดจำกัด เมื่อสหรัฐ อังกฤษและเยอรมนีต่างปฏิเสธที่จะจัดหาเครื่องบินรบให้แก่ยูเครน โดยปธน.ไบเดนได้ปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าจะไม่ส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครน ขณะที่นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษกล่าวว่า อังกฤษไม่มีแผนการที่จะจัดส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครนในทันที โดยบรรดาพันธมิตรส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่าไม่ต้องการให้สงครามบานปลาย
ทั้งนี้ จีนได้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมา ผู้นำจีนและรัสเซียได้ยืนยันถึงมิตรภาพที่ไร้ขีดจำกัดระหว่างกัน โดยจีนได้ต่อต้านมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย อย่างไรก็ตาม นายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนยืนยันว่า จีนมีจุดยืนที่เป็นกลางและไม่เลือกข้างนับตั้งแต่เกิดวิกฤตยูเครน พร้อมให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมการเจรจาเชิงสันติภาพต่อไป รวมถึงมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ไขสถานการณ์ในยูเครน พร้อมทั้งแสดงท่าทีตอบโต้อย่างรุนแรง หลังสหรัฐกล่าวหาว่า จีนกำลังพิจารณาจัดหาอาวุธร้ายแรงให้รัสเซีย
*อาวุธนิวเคลียร์ ไม้เด็ด หรือ จนตรอก?
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมารัสเซียแสดงท่าทีข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์อยู่หลายครั้ง โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการกระทำเพื่อปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงดินแดนทั้ง 4 ของยูเครนที่ถูกผนวกรวมผ่านการทำประชามติที่นานาชาติประณามว่า “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และในการแถลงนโยบายประจำปี (State of the Nation Address) ต่อสมัชชาแห่งชาติครั้งล่าสุด ปธน.ปูตินแสดงท่าทีข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง โดยการประกาศระงับความร่วมมือของรัสเซียในข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ “New START” กับทางสหรัฐ แต่ก็ยังไม่ได้ถอนตัวจากข้อตกลงโดยสิ้นเชิง และยืนยันว่า รัสเซียจะไม่เป็นฝ่ายเริ่มต้นในการทดลองนิวเคลียร์ ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจะจำกัดให้แต่ละประเทศมีหัวรบนิวเคลียร์ไม่เกิน 1,550 หัว โดยข้อตกลงดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปี 2569
นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐออกมาแสดงความผิดหวังโดยระบุว่า “การระงับความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และแสดงถึงความไม่รับผิดชอบของทางการรัสเซีย โดยเราจะจับตามองอย่างระมัดระวังว่ารัสเซียจะดำเนินการดังกล่าวจริงหรือไม่ และเราจะรับมืออย่างเหมาะสมสำหรับความมั่นคงของสหรัฐและชาติพันธมิตร” อย่างไรก็ตาม นายบลิงเกนกล่าวว่า สหรัฐยังคงเปิดช่องสำหรับการเจรจาในประเด็นดังกล่าวกับรัสเซีย
ขณะที่ยูเครนได้ออกมาตอบโต้แถลงการณ์ดังกล่าวของปธน.ปูติน โดยระบุว่า แถลงการณ์ดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่า รัสเซียเข้าตาจนเรียบร้อยแล้ว
เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ดูเหมือนว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยังไม่จบลงง่าย ๆ เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สงครามนี้จะลงเอยอย่างไร และหากเกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ขึ้นจริง ๆ ในฤดูใบไม้ผลิ ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะศึกครั้งนี้ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อโลกใบนี้ ยากที่จะประเมินได้อย่างแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 66)
Tags: In Focus, SCOOP, ยูเครน, รัสเซีย