“ปูติน” ยันเศรษฐกิจรัสเซียแข็งแกร่ง แม้ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร

ภาพ: รอยเตอร์

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ทำการแถลงนโยบายประจำปี (State of the Nation Address) ต่อสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากสภาสหพันธ์หรือวุฒิสภา และสภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งผู้นำกองทัพ และผู้นำภาคธุรกิจในวันนี้ ก่อนครบรอบ 1 ปีของการที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ.2565

ทั้งนี้ ปธน.ปูตินกล่าวว่า แม้รัสเซียเผชิญกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก แต่เศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยรูเบิลได้แข็งค่าขึ้น และอัตราว่างงานแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.7%

นอกจากนี้ ปธน.ปูตินเปิดเผยว่า รัสเซียไม่ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ขณะที่ระบบธนาคารมีเสถียรภาพ และรัสเซียจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567

ขณะเดียวกัน ปธน.ปูติน ประกาศว่า รัสเซียจะยังคงเดินหน้าทำสงครามในยูเครนต่อไป และกล่าวหาว่าสหรัฐและพันธมิตรจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เป็นฝ่ายที่กระพือให้ความขัดแย้งลุกลามออกไป ท่ามกลางความเชื่อที่ว่าชาติตะวันตกจะสามารถเอาชนะรัสเซียได้

“เราไม่สงสัยเลยว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการเตรียมการสำหรับการโจมตีดอนบาส ซึ่งรัฐบาลกรุงเคียฟได้จัดหาอาวุธเพื่อโจมตีดอนบาสตั้งแต่ปี 2557 และได้ทำการโจมตีเรื่อยมา”

“เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามกับเอกสารที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้การยอมรับ ซึ่งผมขอย้ำในที่นี้ว่า พวกเขาเป็นฝ่ายเริ่มต้นสงคราม และเราจะใช้กำลังทหารเพื่อยุติสงคราม”

ปธน.ปูตินกล่าวว่า รัสเซียทำทุกอย่างเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงสงคราม แต่ยูเครน ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากชาติตะวันตก ได้วางแผนโจมตีแคว้นไครเมีย ซึ่งได้ผนวกรวมเข้ากับรัสเซียในปี 2557

“ชาวยูเครนตกเป็นตัวประกันของระบอบปกครองจากกรุงเคียฟและชาติตะวันตก ซึ่งได้ครอบงำประเทศนี้ทั้งทางด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ”

“พวกเขาพยายามขยายความขัดแย้งในท้องถิ่นให้กลายเป็นการเผชิญหน้าในระดับโลก เราเข้าใจในเรื่องนี้ และจะทำการตอบโต้กลับ”

ปธน.ปูตินกล่าว และเสริมว่า ไม่มีทางที่ชาติตะวันตกจะเอาชนะรัสเซียได้ และรัสเซียจะไม่มีวันยอมจำนนต่อความพยายามในการแบ่งแยกสังคมของรัสเซีย

นอกจากนี้ ปธน.ปูตินระบุว่า ชาวรัสเซียส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน และรัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อเยียวยาครอบครัวของทหารที่เสียชีวิตในการทำสงคราม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top