ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต.ในการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามโดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค.ของปีที่ล่วงมา มาใช้ในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ในวันที่ 3 มี.ค.66
“ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องทราบ หากผู้ร้องประสงค์ชี้แจงเพิ่มเติมให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 24 ก.พ.66 จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 นาฬิกา” เอกสารเผยแพร่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) คือ ต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว และในกรณีที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับหน่วยงานใดให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎว่า กกต.(ผู้ร้อง) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ส่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องกรณีประกาศ กกต.ฉบับดังกล่าว ต่อมารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาลและ ส.ส.บางคนแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องที่เกิดขึ้นแล้ว และผู้ร้องส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 66)
Tags: ต่างด้าว, ทะเบียนราษฎร, ศาลรัฐธรรมนูญ, เลือกตั้ง